250 GT Lusso มีเสน่ห์ชดช้อยที่สุดรุ่นนึงของตระกูล Ferrari และเจ้าคันนี้ซึ่งถูกพ่นสีขาวตามคำสั่งของเจ้าของเก่าอย่าง Chris Evans ก็ยังน่าประทับใจอยู่เหมือนเดิม
มันสีขาว และมีภายในหนังสีน้ำเงินโทนสว่าง นี่คงไม่ใช่สิ่งที่คุณคาดหวังจะได้เห็นจาก Ferrari 250 GT Lusso แต่สำหรับสังคมมหาเศรษฐีของเหล่าเจ้าของ Ferrari แล้ว ผมเกรงว่าถ้าพวกท่านอยากได้อะไรก็จะต้องเอาให้ได้
ส่วนฟีเจอร์เด่นอย่างอื่นของ Lusso คุณก็คงเดาออก แต่นั่นก็ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าคุณรู้ว่าคุณจะต้องเจออะไรอยู่ตั้งแต่แรกแล้วรึยัง ซึ่งถ้ายังก็เตรียมพบกับเซอร์ไพรสทางสายตาที่รอคุณอยู่ตั้งแต่เปิดประตูคนขับได้เลย พวกมันก็คือมาตรวัด โดยอันที่เป็นสองวงใหญ่สุดนั้นได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งขนาดมันก็ใหญ่ผิดมนุษย์มนาจริงๆ เหมือนกับพวก Mini ยุคแรก พวกมันไม่ได้วางประจัญหน้าคุณอยู่ในกรอบวงพวงมาลัยไม้ของ Nardi แต่วางถัดไปทางด้านขวาในรถพวงมาลัยซ้ายอย่างคันในเล่มนี้
เข็มวัดรอบซึ่งเป็นหัวจิตหัวใจของ Ferrari มาแต่ไหนแต่ไรถูกวางเอาไว้ตรงกลางแผงหน้าปัดพอดี ส่วนมาตรวัดความเร็วที่สำคัญรองลงมาในยุคที่รถยังคงเป็นรถและถนนสาธารณะยังไม่จำกัดความเร็วนั้นอยู่ถัดออกไปทางขวา แน่นอนว่ามันเลยช่วงที่คนขับจะชำเลืองมองแล้วอ่านอะไรออกไปแล้ว แต่สามารถแจ้งความเร็วให้คนนั่งที่กำลังตื่นตระหนกได้ชัดแจ๋ว อย่างน้อยพวกมันทั้งคู่ก็ยังทำมุมเอียงเข้าหาคนขับอยู่บ้าง
เอาล่ะ..เรื่องสีขาว คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อ Chris Evans ดีเจหัวทองและอดีตพิธีกรรายการ Top Gear อยู่พักนึงมาบ้าง เขาเป็นนักสะสมรถแรงราคาแพงตัวยง และยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานรวมพลรถยนต์ CarFest ทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศด้วย เขาตัดสินใจว่าจะไม่ซื้อสุดยอด Ferrari คลาสสิคเจ็ดรุ่นมาเก็บไว้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องการพ่นมันทุกคันเป็นสีขาวกับทำภายในสีน้ำเงินโทนสว่างด้วย สำนัก Talacrest ที่เชี่ยวชาญ Ferrari จึงลงมือหารถและจัดการเปลี่ยนสีพวกมันให้เรียบร้อย
Lusso คันนี้ถูกพ่นสีใหม่ในปี 2008 ซึ่งเป็นกระบวนการแบบเดียวกับที่ทำกับ Dino, 288 GTO, 275 GTB, F40, 250 GT SWB และ 250 Testa Rossa ป้ายทะเบียนหมวด ENZ ตรงยุคสมัยถูกซื้อมาใส่ แม้ว่าอนุกรม County Londonderry นี้จะออกมาทีหลัง Ferrari พวกนี้พักใหญ่ก็ตาม โดยปกติแล้วรถจะไม่สามารถสวมป้ายทะเบียนที่ใหม่กว่าตัวรถได้ แต่บางทีกฎระเบียบเรื่องป้ายทะเบียนใน Irish เหนือก็อาจจะไม่เหมือนกับที่อื่น
จากนั้นอีกปีเศษๆ Evans ก็คิดว่าเขาไม่ได้อยากเก็บ Ferrari สีขาวพวกนี้เอาไว้แล้ว และเริ่มทะยอยเอารถในคอลเลกชันออกมาขาย Talacrest จึงไปซื้อ Lusso กลับมาในปี 2009 แต่ตอนนี้มันก็กำลังถูกประกาศขายใหม่อีกครั้งพร้อมกับป้ายทะเบียนตรงปี 1964 แต่การที่มันเคยมีประวัติเจ้าของเป็นคนดังและอยู่ในสังคมชั้นสูงจะช่วยเพิ่มราคาให้ได้มากเท่ากับที่ตัวถังสีขาวพ่นใหม่ฉุดลงมาไหม? เรื่องสีจะซีเรียสสำหรับตลาดแถบนี้ขนาดไหนกัน? เพราะท้ายที่สุดแล้วมันก็ยังคงเป็น 1964 Lusso ที่สำหรับคนบางคนมันคือ Ferrari คลาสสิคชั้นยอดที่หาตัวจับยาก และเรากำลังจะได้ลิ้มลองของแพงที่ว่านี้ด้วยตัวเอง
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น ผมอยากจะเล่าประวัติของมันก่อนที่จะมาอยู่ในมือของ Evans ให้ฟังก่อน John Collins เจ้าของสำนัก Talacrest บอกเราว่าตัวรถเป็นสีแดงภายในดำตอนที่เขาซื้อมันมาในปี 2008 เพื่อมาทำโปรเจคท์ White Collection แต่อันที่จริงรถนั้นเป็นสีน้ำเงินเข้มเมทัลลิคมาจากโรงงาน และใช่แล้ว..ภายในก็เป็นสีน้ำเงินอีกด้วย แม้ว่าอาจจะคนละเฉดกับตอนนี้ก็เถอะ มันคือรถ Matching-numbers ที่เคยอยู่มาแล้วหลายประเทศในยุโรป และก่อนที่จะกลายเป็นสีขาวก็เพิ่งจะได้รับการบูรณะเก็บรายละเอียดแบบที่ที่น็อตสักตัวก็ไม่เว้น ดังนั้นสภาพของมันจึงควรสดใหม่ที่สุดในแบบที่ Lusso จะใหม่ได้
LUSSO หรือที่รู้จักกันในชื่อ GT/L ถูกผลิตอยู่เป็นเวลาแค่ช่วงสั้นๆ Ferrari เปิดตัวมันที่งาน 1962 Paris Show และผลิตล็อตแรกออกมา 351 คัน ในเดือนมกราคม 1963 ส่วนคันสุดท้ายประกอบเสร็จตอนเดือนสิงหาคม 1964 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าคันขาวนี่ถูกผลิตออกมาในสีน้ำเงิน มันคือรถถนนของ Ferrari รุ่นสุดท้ายที่ได้ใช้เครื่อง V12 ของ Gioachnio Colombo ในเวอร์ชัน ‘250’ ที่นิยมกันมากที่สุด แต่ละสูบแบบโอเวอร์สแควร์มีความจุ 246 ซีซี (ก็คือเกือบๆ 250) และมีวาล์วสองตัวต่อสูบที่ทำงานด้วยซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์เหนือลูกสูบแต่ละฝั่ง
แชสซีส์ก็เช่นเดียวกันที่เป็นแบบเดียวกับ Ferrari รหัส 250 คันอื่นๆ เช่น GT SWB และ GTO แม้ว่าโครงสร้างจะใช้เหล็กขนาดบางกว่าอยู่เล็กน้อย และนอกจากตัวถังฝีมือ Pininfarina ออกแบบกับ Scaglietti ผลิตที่ยาวกว่าและมีเส้นโค้งเว้าผ่าผายกว่ารุ่นอื่นๆ แล้ว Lusso ก็ยังคงใช้ฐานล้อแบบสั้นจากลูกพี่ลูกน้องเวอร์ชันซิ่งของมันอยู่ มันไม่ใช่รถแบบ 2+2 อย่างที่คุณอาจจะคิด แต่ห้องโดยสารก็จะโปร่งขึ้นด้วยอานิสงส์ของเครื่อง V12 ที่ถูกขยับตำแหน่งมาด้านหน้าเล็กน้อย และด้วยความที่ท้ายรถก็ยาวขึ้นอีกเล็กน้อยด้วยเช่นกัน การกระจายน้ำหนักหน้า/หลังจึงยังคงเกือบจะเท่ากันเหมือนเดิม
นอกเหนือจากเครื่องยนต์ที่สุดยอดของมันแล้ว ก็แทบจะไม่มีอะไรที่น่าดูชมหรือล้ำสมัยในด้านงานวิศวกรรมของ Lusso อีก นั่นคือวิถีของรถถนน Ferrari ในยุคนั้นซึ่ง Enzo ยืนกรานว่าเครื่องยนต์คือทุกสิ่งทุกอย่างและมันควรจะต้องเป็น V12 ดังนั้น เราจึงได้ช่วงล่างหลังคานแข็งกับแหนบที่ยึดอยู่กับรถด้วย Radius rods วางตัวแบบ Watt’s linkage กระปุกพวงมาลัยเฟืองตัวหนอนแบบเก่าที่แม่นยำและประสิทธิภาพดีกว่ารถทั่วไปอยู่พอสมควร โช้คอัพของ Koni ซึ่งเป็นของเทพแห่งยุค 1960s ก็ยังคงยอดเยี่ยมมาจนถึงตอนนี้ด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวถัง ความเรียบง่ายของมันมีข้อดีที่ทำให้รถมีบุคลิกที่คาดเดาง่าย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับการซิ่งข้ามทวีปยุโรปแบบที่ Lusso ถูกจงใจสร้างขึ้นมา
แล้วเรื่องหน้าตาล่ะคุณคิดว่าไง? สำหรับผมในเวอร์ชันเด็กน้อย ซึ่งเป็นเจ้าของรถเหล็ก Matchbox Lusso สีเขียวเมทัลลิคสว่างโล่อยู่หนึ่งคัน Lusso ดูจะเป็น Ferrari ที่หุ่นเพรียวละมุนสายตาเป็นที่สุด ล้ออัลลอยซี่ Borranis วงกว้างขอบลึกยิ่งเสริมความรู้สึกซิ่งให้กับเส้นสายลื่นไหลพวกนั้น กระจกหน้าต่างบานกว้างกับเสาเก๋งบางเฉียบสื่อถึงความเบากับกระฉับกระเฉงมากกว่าที่จะเป็นพวกบ้าพลังและบึกบึน และด้านท้ายก็จะพบกับสิ่งที่น่าจะการเอาสปอยเลอร์มาใช้กับรถถนนเป็นครั้งแรก ขอบตัวถังด้านบนของแผงท้ายถูกกระดกขึ้นอย่างนุ่มนวลเหนือโคมไฟท้ายแบบกลมของมัน
ถ้าท้ายรถเป็นอะไรที่บ่งชี้ไปถึง 275 GTB ที่ตามออกมาหลังจากนั้น หน้ารถนั้นก็คงจะชี้ไปคนละฝั่งของเส้นเวลา เพราะมันชวนให้นึกถึงกระจังหน้าลายสานสี่เหลี่ยมขอบมนที่อยู่ระหว่างไฟหน้าคู่โตของ 250 GT SWB เว้นแต่ว่าไฟเสริมของเจ้านี่ไม่ได้ถูกฝังไว้ในกระจังหน้า แต่วางขนาบข้างเอาไว้แทน แล้วก็มีกันชนที่โค้งสวยละมุนตาแต่ไม่น่าจะใช้การอะไรได้อยู่ใต้มันอีกทีหนึ่ง มันไม่ได้ยาวไปถึงมุมของตัวรถ ซึ่งมีแท่งเหล็กแนวตั้งเพื่อให้รู้สึกว่ามันน่าจะกันกระแทกอะไรขึ้นมาได้บ้างเท่านั้น ในทางกลับกันด้านท้ายของ Lusso เราจะได้เจอกันชนเต็มส่วนที่อ้อมไปจนถึงมุมของรถ
คราวนี้ก็มาถึงส่วนยาก รูปร่างของ Lusso ประกอบไปด้วยซุ้มล้อที่ดีไซน์ด้วยเส้นโค้งรัศมีแปรผัน ผลลัพธ์ทางสายตาก็คือซุ้มล้อหลังที่ดูสี่เหลี่ยมกว่าซุ้มล้อหน้า พวกมันถือเป็นหัวใจของงานดีไซน์ของ Lusso ก็ว่าได้ เช่นเดียวกับความโค้งของกาบบันไดตอนที่ยกตัวขึ้นมาหาซุ้มล้อ ช่างเหล็กของ Scaglietti จำได้ขึ้นสมองว่าทรวดทรงของรถแต่ละส่วนมีหน้าตาเป็นยังไง และใช้สัญชาติญาณในการคุมแรงดัดและความตึงเพื่อให้ชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ทรง ไม่งั้นแล้วพวกมันก็คงจะประดักประเดิดไม่เข้าที่จนเกิดเป็นมุมมองที่ไม่น่าดูเต็มไปหมด ถ้าความตึงไม่พอดีหน้ารถก็อาจจะดูกลมเป็นลูกท้อและห่อเหี่ยว และหากเส้นสายไม่พลิ้วเป็นเรื่องเดียวกันจนทำให้รถดูแบนเตี้ยแล้ว สายตาของคุณก็จะถูกดึงไปหาแนวสันที่ไม่เสมอกันหรือขอบด้านล่างของหน้าต่างบานหลังที่ไม่พอดีกันทันที
ปัญหาก็คือตลอดหลายปีมานี้รถพวกนี้ย่อมต้องผ่านการซ่อมตัวถังหรือบูรณะสภาพมาบ้างแล้ว และนั่นทำให้ความละเอียดอ่อนพวกนั้นหายไป พอรถเป็นสีขาวโพลนมันก็ยิ่งไม่มีที่ปิดซ่อนรายละเอียดพวกนั้น Lusso คันในบทความของเราไม่ใช่คันเดียวที่เจอปัญหานี้ มันดูเหมือนจะเสียทรงที่ข้างนึงของรถไปมากกว่าอีกข้าง หรือมันอาจจะเป็นอย่างนี้มาตลอดก็ได้ เพราะงานแฮนด์เมดก็มักจะเพี้ยนอยู่แล้ว
ทุกอย่างภายในดูเรียบร้อยดี หนังที่หุ้มใหม่ดูยอดเยี่ยมไปจนกระทั่งหนังบุฟองน้ำในห้องเก็บสัมภาระที่อยู่ด้านหลังเบาะ หรือแม้แต่สายหนังสำหรับรัดกระเป๋าเดินทางของคุณไม่ให้ร่อนไปทั่วรถตอนที่คุณจัดการกับโค้งบนเขา ในฐานะที่มันเป็นรถรุ่นหรู (ซึ่งก็คือความหมายของ ‘Lusso’) คุณอาจจะคาดหวังที่จะได้เห็นเบาะปรับเอนได้ใน Ferrari รุ่นนี้ แต่ไม่มีซะหรอกครับ อุโมงค์เกียร์อันเขื่องที่ด้านบนเรียบสนิทนั่นถูกขนาบข้างด้วยเบาะบักเก็ทซีทจากรถแข่งคู่นึง และหากคุณต้องการปรับความสัมพันธ์ระหว่างเบาะ พวงมาลัย กับแป้นเหยียบที่ยึดไว้บนพื้นรถ มันก็มีระยะราวสองนิ้วที่แป้นเหยียบจะสามารถเลื่อนไปมาได้เพื่อทดแทนรางเบาะแบบรถปกติทั่วไป
เมื่อลงไปนั่งในเบาะตัวนึงเรียบร้อย ตรงหน้าผมมีมาตรวัดห้าวงเรียงกันเป็นแผง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานผมก็ค้นพบว่ามีแต่เข็มแรงดันน้ำมันเครื่องเท่านั้นที่พอจะอ่านค่าที่เชื่อถือได้ Lusso จะน้ำมันหมดเกลี้ยงทั้งๆ ที่เข็มยังคาอยู่ 1/4 เข็มความร้อนน้ำมันเครื่องกับอุณหภูมิน้ำแทบจะไม่ขยับตัว ส่วนนาฬิกาก็ตายสนิทเหมือนโดนหยุดเวลา แน่นอนว่าทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากและก็คงจะได้ทำในเร็วๆ นี้ พวกมันน่าจะเป็นผลจากการที่ Lusso ไม่ค่อยได้ออกมาวิ่งอย่างเป็นกิจลักษณะนั่นแหละ
แต่อย่างน้อยหน้าตามาตรวัดก็ยังดูดี และทำตัวเป็นประตูข้ามมิติพาคุณย้อนไปหางานดีไซน์ต้นตำรับของ Ferrari ที่น่าดึงดูดสำหรับคนที่มองเห็นงานวิศวกรรมเป็นเรื่องน่าหลงใหลและให้ความสำคัญ มันยังมีอีกจุดที่สำคัญไม่แพ้กันด้วย ซึ่งคือตับสวิทช์ที่วางเรียงกันอยู่บนแดชบอร์ดตรงกลางที่ไม่มีสัญลักษณ์ติดเอาไว้ และก้านหน้าตาเหมือนกระดิ่งที่โผล่ออกมาจากด้านซ้ายของคอพวงมาลัยสำหรับไฟเลี้ยวและไฟสูง มันยึดอยู่กับคอพวงมาลัยด้วยน็อตลูกบิด เจ้าแท่ง “กระดิ่ง” นี่ทำให้ผมคิดถึงของสองชิ้นที่มีหน้าตาแบบเดียวกันในรถสปอร์ตคูเป้สัญชาติอิตาเลียนที่ผมเคยมีอย่าง Lancia Fulvia HF
เครื่อง V12 สตาร์ทติดขึ้นมาอย่างง่ายๆ สุ้มเสียงดูอลหม่าน มีเสียงกรอบแกรบจากวาล์วเกียร์และเสียงหอนจากโซ่ลอยเด่นออกมาจากเสียงเครื่องยนต์แน่นๆ ที่ฮัมออกมาจากท่อไอเสีย ส่วนฝั่งอากาศขาเข้าก็มีปากเสียงไม่แพ้กันเพราะไม่มีแผ่นกรองอากาศมาคอยซับเสียง ปากแตรคาร์บูเรเตอร์ทั้งหกเปิดโล่งโจ้งโดยมีแค่ตะแกรงลวดกันเอาไว้ ในคันนี้พวกมันต่อเข้ากับคาร์บูเตอร์ Weber 40 DCZ6 แทน 36 DCS ที่มาพร้อมแผ่นกรอง มันเป็นเรื่องปกติที่ลูกค้าจะสั่งอัพเกรด 1-2 รายการ ในตอนที่ซื้อ Lusso เพื่อเพิ่มความก้าวร้าว และนั่นก็แปลว่ารถคันนี้น่าจะมีแรงม้ามากกว่ามาตรฐาน 240 ตัว อยู่เล็กน้อย
ผมเร่งเครื่องออกไปและพบว่าเกียร์หนึ่งยาวมาก เพราะมันมีทั้งหมดอยู่แค่สี่เกียร์ ความเร็วสูงสุดของรถคันนี้อยู่ที่ 140 ไมล์/ชั่วโมง (ที่ประมาณ 7,000 รอบ/นาที) ในเกียร์สูงสุด และก็จำเป็นที่ช่วงตัดต่อเกียร์จะต้องไม่ห่างกันเกินไปด้วย แรงบิดสูงสุด (205 ปอนด์ฟุต) จะยังไม่โผล่มาจนกว่ารอบจะแตะ 5,500 รอบ/นาที และแรงม้าสูงสุดก็มาที่รอบระดับบ้าคลั่งสำหรับยุค 1964 ที่ 7,500 รอบ/นาที แต่เครื่องยนต์ที่รอบต่ำก็ยังมีแรงดึงเหลือเฟือ ขอแค่คุณไม่เปิดคาร์บูเรเตอร์ทั้งหกตัวอ้าซ่าตั้งแต่ยังไม่ถึง 2,500 รอบ/นาที แค่เท่านั้น พอมาถึงตอนที่ต้องเปลี่ยนเกียร์ การโยกด้ามเกียร์คือตัวอย่างชั้นเลิศของการฝึกฝนความแม่นยำ แต่ก็ยังดีที่มีแป้นคลัทช์เบาเท้าแต่มักลื่นให้เห็นบ่อยๆ มาช่วยเอาไว้
มีควันไม่น้อยพุ่งออกมาจากปลายท่อไอเสียหน้าตาหล่อเหลาที่พ่นผิวด้านเป็นด้วยสีแดงและมีครีบเร่งระบายอากาศล้อมรอบอีกที แต่นั่นก็เป็นแค่ตอนเครื่องยนต์ยังไม่ถึงอุณหภูมิทำงาน หลังจากนั้นมันก็หายไปหมดและถนนโล่งๆ ก็เริ่มกวักมือหา มันไม่มีรอบเครื่องไหนที่เรี่ยวแรงถาโถมออกมาแบบไม่ทันตั้งตัว แต่จะค่อยๆ ดึงหนักขึ้นและหนักขึ้นไปพร้อมกับรอบเครื่องยนต์ที่ไต่สูงขึ้นแทน จากนั้นเวทีเสียงก็กลายเป็นงาน Goodwood ดีๆ นี่เอง ที่ 6,000 รอบ/นาที ซึ่งผมลองแค่แป๊บเดียวเพราะมันไม่ใช่รถของผม เสียงเครื่อง V12…ผมจะอธิบายมันว่ายังไงดี? หอน? หวีดร้อง? อะไรก็ช่างเถิดแต่มันปลุกอวัยวะภายในของคุณให้ตื่นตัวแบบที่เสียงอื่นทำไม่ได้ เสียงการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ สั่นสะท้านและรุนแรงเกินกว่าจะอธิบายว่าเรียบเนียนได้ แต่นั่นก็เป็นการบ่งบอกว่าชิ้นส่วนทำงานได้ไร้ที่ติ
เพราะฉะนั้น ภารกิจหลักของ Enzo ที่เครื่องยนต์ต้องเป็นพระเอกก็ถือว่าสอบผ่าน แม้ว่า Lusso จะไม่ได้แรงเท่าเสียงของมันก็ตาม (คุณก็จะแค่กดแป้นคันเร่งที่ระยะทำงานยาวเฟื้อยลงไปอีกเพื่อชดเชยให้กับเรื่องนั้น) แต่เรื่องอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันทั้งพวงมาลัย ช่วงล่าง แฮนด์ลิง หรือเบรก ซึ่งมันก็เป็นไปตามที่เราเก็งไว้ตั้งแต่แรก เพราะทุกอย่างทำงานดีได้อย่างน่าชื่นชม
ช่วงล่างหน้าแน่น ส่วนช่วงล่างหลังนุ่มกว่ากันอยู่เล็กน้อย ซึ่งนั่นก็แปลว่า Lusso จะเข้าโค้งด้วยนิสัยของการจิกหน้ารถเลี้ยวไปตามเส้นทาง มันถ่ายน้ำหนักบนล้อฝั่งนอกได้นิ่งสนิทในขณะที่คุณเร่งผ่านโค้งออกไป พวงมาลัยจะเบามือขึ้นในตอนที่คุณกำลังจะพ้นโค้ง พร้อมกับอาการโอเวอร์สเตียร์อ่อนๆ ที่เผยออกมาอย่างสุขุม ค่อยเป็นค่อยไป และควบคุมได้ ไม่ใช่การสไลด์หรือแถจนตกถนน แต่เป็นการใช้คันเร่งเพื่อขยับท้ายรถให้เข้าไลน์ซึ่งยอดเยี่ยมมาก
แต่ถึงแม้คุณจะไม่ได้ใช้แรงบิดจากเครื่องมาช่วยเลี้ยว พวงมาลัยที่เคยหนักอึ้งตอนขยับอยู่ในลานจอดรถ ตอนนี้ก็เบามือ แม่นยำ และคุยเก่งจนสามารถกลบระยะฟรีที่มีอยู่เล็กน้อยตามธรรมชาติของกระปุกพวงมาลัยแบบนี้ได้หมดจด เบรกและจาน Dunlop ออกแรงหน่วงความเร็วได้ดีและแข็งแรงอย่างที่คุณคาด
แค่อีกนิดเดียวเจ้า 250 GT LUSSO คันนี้ก็จะยอดเยี่ยมแล้ว ถ้าคุณคิดจะซื้อมันมาใช้งานเป็นประจำ คุณก็อาจจะอยากซ่อมอุปกรณ์ที่เสียอยู่ให้กลับมาใช้การได้ก่อน ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้อยู่แล้ว จากนั้นสวรรค์ของการขับรถก็จะสมบูรณ์แบบ มันจะอ้อนวอนให้คุณขับมัน เพราะนั่นคือวิธีที่จะทำให้ Ferrari เก่า (อันที่จริงก็ทุกยี่ห้อแหละ) ยังฟิตปั๋ง ในปี 1964 ไม่มีใครคิดเรื่องการเก็บสะสมและลงทุนใน Ferrari ถ้าคุณมีมันคุณก็แค่ต้องขับมันและเก็บเกี่ยวความสุขทุกนาทีจากตรงนั้นเท่านั้น แล้วผมอยากจะทำแบบนั้นกับ Lusso คันนี้เช่นกัน แต่บางทีอาจเปลี่ยนมันกลับไปเป็นสีน้ำเงินเมทัลลิคก่อน
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น