Buyer Guide | 550 Maranello

หัวแถวขุนพลเครื่องหน้า

“การตัดสินใจครั้งสำคัญที่นำเครื่องยนต์ไปสิงอยู่ด้านหน้าสำหรับ 550 Maranello นับว่าเป็นปฐมบทในการสร้างสรรอันยอดเยี่ยมตลอดกาลของ Ferrari”

หลังจากที่ 550 Maranello ได้เปิดตัวต่อหน้าสื่อมวลชนไป ณ สนาม “นูร์เบิร์กริง” ในเดือนกรกฎาคม ปี 1996 ก็คงไม่ต้องไปตามล่าหาแรงบันดาลใจของ Ferrari ในป่าไหนหรอกครับ ด้วยดีไซน์กระโปรงเพรียวยาว ดูเหมือนมีแรงผลักดัน ส่วนด้านท้ายจะดูทะมัดทะแมง เด่นที่ไฟท้ายทรงกลมโดนัท 4 ดวง ภายในเป็นรถสองที่นั่งที่ถูกตกแต่งอย่างหรูหราวิจิตร และขุมพลังขนาดยักษ์ V12!!! วางอยู่ด้านหน้า แน่นอนว่า ด้วยจิตวิญญาณแนวคิด วัสดุ เจ้า Maranello นี้ก็ถือ Daytona กลับชาติมาเกิดนั่นเอง…

แนวทางทั้งหมดนี้ก็มาจากแนวคิดของท่านประธาน Luca di Montezemoloซึ่งมีประกาศิตกับ Ferrari รุ่นใหม่ ที่หมายมั่นปั้นมือให้เป็นระดับ “เรือธง” (Flagship) ความหมายคือ “สุดยอด” จะต้องเป็นเครื่องยนต์วางด้านหน้า ปลุกกระแสเครื่องยนต์ลูกสูบ “หนึ่งโหลนอนยันวางกลาง” (Flat-12Mid Ship Engine) มีตำนานกว่า 23 ปี ที่อยู่ในรถสองที่นั่ง (Berlinetta) จนถึงรุ่นสุดท้ายอย่าง F512M เหตุผลก็คือ ต้องการให้เป็น “รถยนต์เครื่องวางหน้า ในรูปแบบ Super GT” (Grand Touring) ที่สามารถขับขี่ในระยะทางไกลๆ ได้อย่างวิเศษ และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายขึ้น การขับขี่สมบูรณ์แบบครบถ้วนกว่าเหล่า Exotic เครื่องวางกลางลำที่ผ่านมาทั้งหลาย ซึ่งเขาก็คิดได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้ รุ่น 812 Superfast ก็ยังคงรูปแบบเดียวกับ 550 Maranelloซึ่งมีอายุกว่า 20 ปี ทุกประการ…

สำหรับ “ชื่อเสียงเรียงนาม” ของ 550 ก็เป็นการผสมผสานและอ้างอิงจากเครื่องยนต์ความจุ 5.5 ลิตร V12 และเป็นที่แน่นอนว่า การออกแบบจะต้องเป็นฝีมือของ Lorenzo Ramaciottiแห่ง Pininfarina ที่อยู่ในบ้านเกิดของ Ferrari ซึ่งออกแบบโดยการ “ยืมสไตล์” บางส่วนมาจาก Daytona และยังรวมสไตล์การออกแบบ “หน้างุ้มต่ำ” เพื่อหลักอากาศพลศาสตร์ จาก 275 GTB ที่ประสบความสำเร็จในยุคก่อน สำหรับรูปแบบช่องระบายลมออกจากห้องเครื่องทรง “เหงือกปลา” อันเป็นเอกลักษณ์บนแก้มหน้าทั้งสองฝั่ง ก็ว่ากันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมว่าเป็นวิญญาณสิงมาจากตัวตำนาน Berlinetta ในยุค 1960…

สำหรับเครื่อง V12 รหัส F133A นั้นก็อุดมไปด้วยเทคโนโลยีสำคัญ วาล์วทั้ง 48 ตัว ยั้วเยี้ยไปหมด แคมชาฟต์ 4 แท่ง (2 แท่งในแต่ละฝาสูบ) หรือ Quad-Cam เพื่อเน้นประสิทธิภาพในการประจุอากาศ เครื่องบล็อกนี้จะเป็นการ Rework พัฒนาและโมดิฟายมาจากเครื่องรหัส F116 จาก 456 GT ซึ่งเป็นรถ 2 ที่นั่ง เครื่องวางหน้า ออกจำหน่ายในปี 1992 การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ก็จะอยู่ที่ฝาสูบ ออกแบบใหม่ทั้งหมด และสิ่งที่ Ferrari เรียกว่า “Resonance Effect” ก็คือ เป็นระบบดูดอากาศโดยการใช้ลิ้นปีกผีเสื้อแบบ “อิสระ” ทั้ง 12 ตัว รวมถึง “ท่อไอดีแบบแปรผันความยาวได้ตามรอบเครื่องยนต์” เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณการไหลของอากาศทั้งในรอบต่ำที่ปกติอากาศจะไหลช้า ทำให้เครื่องยนต์ไม่มีแรง รอรอบ ลดเสียง “ฟอด” ได้อีกประการ และในรอบสูงที่เปิดได้เต็มที่ เพื่อให้กำลังสูงสุด รวมถึงเสียงดูดอากาศอันเร้าใจ เป็นเครื่องยนต์ที่มีเอกลักษณ์ ขยี้แรงม้าออกมาได้อย่างทะลักทลาย ด้วยแรงม้าสูงสุดถึง 478 bhp ที่ 7,000 rpm ซึ่งถือว่าจัดจ้านมากแต่ก็ยังคงความ “เนียน” สไตล์รถ GT ระดับสูง สมรรถนะก็ไม่ใช่เพื่อนเล่น เพราะลากน้ำหนักรถขนาด 1.7 ตัน !!!ทำอัตราเร่ง 0-60 mph (96 km/h) ได้ในเวลาเพียง 4.4 วินาที ส่วน Top Speed ก็ “ยาวไป” เฉียด 200 mph หรือแค่ 320 km/h เท่านั้นเอง !!!

เปิดใจถึงโครงสร้างด้านใน ซึ่งมีสิ่งที่มากกว่าที่คาดคิด ด้วยโครงสร้างแบบ “อะลูมิเนียม” เทคโนโลยีชั้นเลิศของ Super Car ระดับโลก ที่ทั้งน้ำหนักเบา ปลอดสนิม (แต่ตอนชนแล้วซ่อมก็ต้องอู่เฉพาะทาง ราคาก็ไม่ธรรมดาให้โลกจำ) เทคโนโลยีนี้ได้รับถ่ายทอดมาจาก 456 GT อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างก็คือ ช่วงล้อหน้าถึงหลัง (Wheelbase) ของ 550 จะอยู่ที่ 98.4 นิ้ว หรือ 2,500 มม. พอดิบพอดี ซึ่งสั้นกว่า 456 GT อยู่ 3.9 นิ้ว ก็เกือบๆ 100 มม. นัยว่าจะทำให้ Handling นั้นฉับไวขึ้น ระบบช่วงล่างเป็นแบบ “ปีกนกคู่” ทั้งหน้าและหลัง โช้คอัพเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า เพิ่มความหนึบและกระชับในโหมดสปอร์ต เพื่อรองรับความเร็วสูงโดยเฉพาะ ล้อผลิตจากวัสดุเลิศอย่าง “แม็กนีเซียม” ซึ่งในรถ Production ทั่วไปคงไม่มีแบบนี้แน่ๆ รวมถึงคาลิเปอร์เบรกที่ผลิตจาก อะลูมิเนียม ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำไปเพื่อ “ลดน้ำหนักใต้สปริง” (Unsprung Weight) ส่งผลให้ช่วงล่างทำงานได้เร็ว “Active” มากขึ้น ลดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นแนวทางของรถที่เน้นสมรรถนะแบบไม่เกี่ยงราคา และยังมีอุปกรณ์เสริมพิเศษ Fiorano Packที่เปลี่ยนแปลงการเซ็ตช่วงล่างให้เกาะถนนได้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงความนุ่มนวลสะดวกสบายที่ลดลงไปตามสัดส่วน ระบบพวงมาลัย แปรผันตามความเร็ว เบรกขนาดใหญ่ จานเบรกแบบมีช่องระบายความร้อน พร้อม ABS และระบบช่วยควบคุมการทรงตัว ASR Stability Control ที่สามารถปรับได้ เช่น ลดการช่วยเหลือให้น้อยลง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ (แต่ก็ยังคงทำงานอยู่นะ) และ Switch Off ปิดระบบไปเลย “ไม่ต้องห่วงฉัน” ให้คนขับได้วาดลวดลายเต็มที่ โดยที่ฝีมือต้องถึงๆ หน่อยถึงจะไปได้สวย…

ระบบเกียร์ แม้ว่า Ferrari จะมีระบบเกียร์ไฟฟ้าอย่าง F1 PaddleShift ที่มีใช้ครั้งแรกใน F355 อยู่แล้ว แต่ 550 ก็ยังคงยืนหยัดหนักแน่นถึงระบบเกียร์ Manual แบบดั้งเดิม ซึ่งตัวเกียร์จะวางอยู่ด้านท้ายรถ ให้น้ำหนักหน้าและหลังกระจายได้อย่างสมดุลย์ 50/50 รวมถึงเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป ส่วนคันเกียร์ก็จะเป็นแบบ Metal Gate ที่เป็นร่องตัว H พร้อมหัวเกียร์โครเมียมทรง “ปิงปอง” อันเป็นเอกลักษณ์ของ Ferrari ตลอดกาล ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถือว่าเป็น Ferrari ยุคใหม่ (ในขณะนั้น) ที่เน้นความประณีตสูงสุด และเป็นรถ GT เครื่องวางหน้าที่คลาสสิก และมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว…

ในด้าน “ดีกรี” ในการแข่งขัน 550 ก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใคร ทั้งในค่ายและค่ายอื่น แม้ว่าใจจริงแล้วตัวรถจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเน้นการแข่งขันเลยก็ตาม แต่ว่าทีมแข่ง “ส่วนตัว” ต่างๆ (ที่ไม่ใช่ทีมโรงงานหรือทีมใหญ่) พอนับจำนวนแล้วก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ที่นำ 550 ไปโมดิฟายแข่งขันเต็มระบบและสามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในการแข่งขันรถยนต์แบบ GT ทั้งหลายที่นิยมกัน ผลงานเด่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น ทีม Prodriveจับมาปรุงให้จัดจ้าน ชนะเลิศรุ่น GTS Class รายการพันธุ์อึดยืดยาวอย่าง Le Mans ปี 2003 ยังจบการแข่งขันอันดับ 2 ในรายการ American Le Mans Series รวมถึงทีม BMS ScuderiaItalia Team ที่ได้แชมป์ FIA GT Championship ในปีเดียวกันอีกด้วย…

550 มันเป็นรถถนนที่ดำรงความยอดเยี่ยมเอาไว้อย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงคุณศัพท์ได้อย่างชัดเจน เครื่อง V12 มันเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มาก พลังที่ออกมามันช่าง “นวลกลมกล่อม” แรงม้าและแรงบิดทะลักไหลออกมาไม่รู้จักหมด รวมถึงในด้าน Handling ที่นักทดสอบและนักขับต่างๆ ได้ปลื้มใจ คือ มันเป็น Super Car จาก Ferrari(ที่คนส่วนใหญ่ก็ว่ามันไม่เคยมีความสบาย) ที่น่าแปลกกับรูปร่างอันใหญ่โต ความแรงมาก แต่กลับขับขี่ได้สบายและคล่องตัวเหมือนกับ CompactSportCars เลยทีเดียวเชียว ถ้าเจอมือขับแบบเชี่ยวๆ หน่อย จะนิยมการขับในอาการ “ท้ายสะบัด” (Oversteer) โดยใช้การเดินคันเร่ง ซึ่งอาการออกมาก็คุมได้ง่าย เดาอาการง่ายเป็นธรรมชาติที่ยากจะบอกได้จริงๆ…

ในปี 2004 นิตยสาร evo Magazine จัดหนักโดยการรวมรถที่นักขับชื่นชอบจำนวน 10 คัน ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก็มี Lotus Elise 135, BMW M3, Honda NSX-R, PaganiZonda C12S และ Porsche GT32 เจนเนอเรชั่น ผลการตัดสิน 550 Maranello ได้รับการโหวดว่ายอดเยี่ยมที่สุด จากการที่มีศักยภาพ “รอบด้าน” นี่คือบทสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความ…

Harry Metcalfe บรรณาธิการนิตยสาร evo Magazine ซึ่งหลงรักเจ้า 550 อย่างหัวปักหัวปำ หลังจากที่ได้ทดสอบแล้วก็ต้อง “ตามหารักแท้” ในปี 2004 ก็ได้ครอบครองหนึ่งคัน เรียกว่าใช้งานไปเกินกว่า 30,000 ไมล์ ในช่วงเวลาเพียง 18 เดือน ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “มันเป็นรถที่ขับแล้วสนุกที่สุดเท่าที่เคยลองขับมา” เบาะนั่งเดิมๆ ซึ่งให้รสสัมผัสอันเยี่ยมยอด ทั้งความหรูหราและกระชับสรีระ และสิ่งที่ Surprise ที่สุดอีกอย่าง คือ “ไม่ตะกละตะกลามอย่างที่คิด” และ “สมเหตุสมผล” กับ “ตังค์” ที่จ่ายค่าอาหารมันไป อัตราสิ้นเปลืองของ 550 ที่บรรจุถังน้ำมันขนาดถึง 100 ลิตร (สำหรับการเดินทางไกลโดยเฉพาะ) ใช้งานเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 16-18 ไมล์/แกลลอน และใน 1 ถัง สามารถวิ่งเป็นระยะทางได้ถึง 320 ไมล์ เป็นปกติ และถ้าขับแบบสบายผ่อนคลายอารมณ์ เคยทำได้ถึง 360 ไมล์ !!!ซึ่งมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนสำหรับการขับรถในระยะทางไกลๆ บ่อยๆ เป็นประจำ…

แต่เรื่องที่ไม่ค่อยน่ายินดีก็มี 550 จะออกแนว “ผลาญยาง” เป็นว่าเล่น เรียกว่าตอนที่ผมขับมัน ร้านยางทั้งหลายต่างก็ดีใจที่จะได้ตังค์ผมบ่อยๆ ก็ดูกันง่ายๆ ยาง Pirelli P-ZeroRossoเบิกมาใหม่ๆ แต่มีอายุการใช้งานเต็มที่เพียง 6,000 ไมล์ (9,600 กม.) แค่นั้นเอง ก็เลยยอมเปลี่ยนข้ามสัญชาติ มาใช้ Michelin Pilot Sport ซึ่งรู้กันว่าเป็นการลดประสิทธิภาพการยึดเกาะไปบ้าง แต่ด้วยความที่มันมีอายุการใช้งานนานกว่า Pirelli ถึงสองเท่า จึงจำเป็นต้องเลือกเนื่องจากต้องการขับมันบ่อยๆ แต่ข้อดีก็มีนะ เพราะเราสามารถสนุกกับการขับแบบเล่นลีลาในความเร็วที่ไม่ต้องหวดกันเร็วมากเหมือนเดิม อย่าง 550 Maranello คันนี้ ผมเลือกที่จะขับมันมากกว่าที่จะจอดเฉยๆ และชอบขับไปท่องเที่ยวทางไกลๆ อยู่เสมอ มันอาจจะลดประสิทธิภาพการเกาะถนนลงไปหน่อย ซึ่งเราไม่สามารถจะทิ่มเข้าโค้งแรงๆ สาดหนักๆ ได้เหมือนเดิมก็จริงในการขับแบบเอามันส์บนถนนเส้นรอง (B-Road) ที่รถน้อยแต่จะโค้งเยอะหน่อย แต่ก็ได้ดีตรงนี้ยางจะไม่หมดเร็วจนเกินไปนัก…

เรื่องของการเซอร์วิสก็ต้อง “เตรียมกระเป๋า” ไว้หนักๆ หน่อย การเข้าเช็คและเซอร์วิสตามระยะปกติ ต้องมี 1,800 ปอนด์ หรือราวๆ 80,000 บาท !!! ข่าวร้ายก็คือ อันนี้เป็นเรตค่าใช้จ่ายในตอนที่ 550 ออกมาใหม่ๆ แต่ ณ ปัจจุบัน ตัวแทนจำหน่าย Ferrari คิดจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำกับรถ Modern Classic เช่น 550ซึ่งก็ลองคิดเอาเองว่ามันจะโดดขึ้นไปอีกเท่าไร แต่คงไม่สะเทือน (มาก) สำหรับคนที่ครอบครองรถระดับนี้ได้แน่ๆ แต่มุมที่น่าประทับใจมากๆ ก็คือ ในระยะทาง 30,000 ไมล์ (48,000 กม.) ที่ใช้มา เพิ่งจะพบปัญหาเพียงอย่างเดียว ก็คือ โซลินอยด์ที่คุมการตัดและจ่ายน้ำมันเสีย ค่าอะไหล่ราคาน่ารักเพียง 27 ปอนด์ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ “พันเศษๆ” เท่านั้น ถือว่าถูกมากในรถราคานี้ แต่รวมค่าแรงแล้วก็อยู่ที่ 634 ปอนด์ หรือประมาณ 28,000 บาท…

“มันมีเสน่ห์ยั่วยวนใจที่จะทำให้ผมอยากจะขยี้มันอย่างเมามันส์ตลอดระยะ 30,000 ไมล์ ที่ผ่านมา แต่มันก็คือ Ferrariและรถก็เริ่มคลาสสิกปีลึกลงเรื่อยๆ ซึ่งผมไม่คิดที่จะทำอย่างนั้นจริงๆ แน่” Metcalfe กล่าว “550 นั้นถือเป็น Special Car ที่ควรถนอม ไม่สมควรที่จะนำมาขับพร่ำเพรื่อ ด้วยมูลค่าที่สูง และยังคงขับขี่ได้อย่างยอดเยี่ยมเสมอ”

เอาเป็นว่า ถ้าคุณพิจารณา 550 ไว้ในใจ อะไรที่ควรจะรู้บ้าง เรามีคำแนะนำดีๆ จาก Dean Pallettผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการ ณ Graypaul Nottingham และเป็นแฟนตัวยงของ 550 ว่า “มันเป็นรถที่ดี แข็งแรง ทนทาน คุณภาพวางใจได้” และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่อง V12 ก็ถือว่าคุ้มค่า”

“สิ่งแรกที่ควรจะต้องตรวจเช็คก่อน คือ ประวัติการซ่อมบำรุง ต้องเข้าใจและรับทราบก่อนนะครับ ว่า 550Maranelloที่คุณเห็นนั้น ไม่ใช่ว่าจะตรวจเช็คหรือซ่อมบำรุงโดยช่างที่ผ่านการอบรมจากบริษัทแม่ทุกคันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงกำหนดเข้าเช็คตอน 12,000 ไมล์ ซึ่งรถ 550 ส่วนใหญ่แล้วจะใช้งานน้อย ไม่ถึงระยะที่กำหนดเลยไม่เข้าเช็คเลยเจออุปกรณ์หลายอย่างที่เสื่อมสภาพ ซึ่งคุณควรจะหาหลักฐานยืนยันก่อนซื้อว่ารถคันนั้นๆ ได้เข้าตรวจเช็คประจำตามระยะจากศูนย์บริการในเครือ หรืออู่ซ่อมชั้นนำที่เชี่ยวชาญในรถรุ่นนี้จริงๆ จะดีที่สุด ซึ่ง Graypaul จะคิดค่าบริการ 750 ปอนด์ ในการเซอร์วิสพื้นฐาน และ 1,000 ปอนด์ ในการเซอร์วิสระยะที่สอง ซึ่งจะรวมถึง น้ำมันเกียร์, กรองอากาศ และส่วนอื่นๆ ที่เสริมเข้ามาตามอาการของรถ ทุกๆ 3 ปี จะต้องเปลี่ยน “สายพานไทมิ่ง” (Cam Belt) ที่ต้องจ่าย 1,950 ปอนด์ และเราแนะนำว่า หัวเทียน จะต้องเปลี่ยนในระยะ 4-5 ปี”ซึ่ง Dean ได้ให้คำแนะนำไว้…

ที่อ่านๆ มานี้ อาจจะกลัวๆ กันบ้างว่าค่าบำรุงรักษามันโหดไปหน่อยหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วในส่วนอื่นๆ ที่แทบจะไม่ต้องบำรุงรักษาก็มี เช่น ระบบถ้วยวาล์วเป็นแบบ ไฮดรอลิค เหมือนกับรุ่น 456 ซึ่งไม่ต้องปรับตั้งเลยตลอดอายุการใช้งาน…

แท้จริงแล้ว หากคุณดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกำหนด เครื่องยนต์ 550 ตัวนี้ก็แทบจะไม่มีปัญหาอันใดให้น่ารำคาญ จะมีก็เพียงจุกจิกเล็กน้อย เช่น น้ำมันเครื่องรั่วซึมจากซีลแคมชาฟต์ อันนี้จะเป็นปกติตามอายุ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะรบกวนเรื่องการเงินของท่านแต่อย่างใด หนทางที่ถูกต้อง เมื่อคุณเปลี่ยนสายพานไทมิ่งแล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนซีลตัวนี้ไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าแรงซ้ำซ้อนทีหลัง (บอกแล้วว่าค่าแรงในต่างประเทศนั้นแพงมากกว่าค่าอะไหล่หลายเท่านัก) ส่วนอีกประการที่อาจจะพบกันก็คือ “เครื่องโอเวอร์ฮีท” ซึ่งก็ต้องเช็คพัดลมว่ายังทำงานได้สมบูรณ์แบบหรือไม่ เน้นว่า “สมบูรณ์แบบ” เพราะบางทีมันหมุนอยู่ให้เห็นก็จริง แต่เกิดการ “เสื่อมสภาพ” รอบของพัดลมอาจจะไม่พอที่จะระบายความร้อนได้ ทำให้เกิดปัญหาเครื่องโอเวอร์ฮีทได้ ถ้าทำงานสมบูรณ์แบบก็จะทำให้ควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเสถียร…

สำหรับเรื่องต่อมา คือ ระบบเกียร์ ต้องลองดูในการขับ เกียร์จะต้องเข้าได้อย่างราบเรียบทุกตำแหน่ง นุ่มหนึบมือ ไม่มีเสียงดังหรืออาการ “ขบ” และ “ขืน” โดยเฉพาะตอนที่เกียร์ยังมีอุณหภูมิต่ำ (น้ำมันเกียร์เย็น) ต้องเช็คให้ดีนะครับเพราะค่าโอเวอร์ฮอลเกียร์นั้น “โหด” ใช่ย่อย ซึ่งเป็นคำเตือนจาก Dean และอะไหล่บางชิ้น ปัจจุบันนี้ไม่มีขายทั่วไปแล้ว ถ้าต้องการจริงๆ ก็อาจจะต้องสู้ด้วยราคาแสนแพงสำหรับคนที่ซื้อเก็บไว้แล้วนำออกมาปั่นราคาขาย ส่วนระบบคลัตช์ ก็ต้องเช็คว่าน้ำหนักเหยียบคลัตช์นั้นหนักผิดปกติหรือไม่ หรือ มีอาการบ่งบอกว่าคลัตช์ลื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนจะอยู่ที่ 3,000 ปอนด์…

ปัญหาของระบบช่วงล่าง ที่เจอกันตามอายุก็คือ โช้คอัพรั่ว เปลี่ยนชุดใหม่มีค่าใช้จ่าย 1,500 ปอนด์ แต่มีข่าวดีคือสามารถส่งของเดิมไปซ่อมบำรุงกับ Bilsteinซึ่งเป็นผู้ผลิตโช้คอัพ OEM ให้กับ 550 เจ้าเก่าดั้งเดิม ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 400 ปอนด์ เท่านั้น…

ในด้านตัวถัง 550 ส่วนใหญ่ก็จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี และตัวถังชั้นในก็เป็นอะลูมิเนียมซึ่งปลอดสนิมก็จริง อย่างไรก็ต้องเช็คดูระหว่างรอยต่อของตัวถังในจุดต่างๆ ที่อาจจะเกิดปุ่มสนิมที่มาจากการกัดกร่อนตามการใช้งานและสภาวะอากาศ (ในอังกฤษฝนจะตกบ่อย ต้องพิจารณากันเยอะหน่อย) รวมถึงแถวๆ ด้านในและแนวชายขอบด้านหน้าของฝากระโปรง เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี เพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในส่วนนี้จัดว่า “เศรษฐีสะดุ้ง” ได้เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาและความประณีตสูง…

ส่วนของอุปกรณ์ภายใน หนังแท้ส่วนที่หุ้มหน้าปัด พอเริ่มมีอายุมาก ก็จะมีการหดตัวและลอกเปิดออก โดยเฉพาะส่วนที่โดนแสงแดดจัดส่องประจำ ชัดเจนว่า Ferrari ได้เปลี่ยนผู้ผลิตกาวทาภายในใหม่ สำหรับการหุ้มหนังฟื้นฟู้สภาพหน้าปัดใหม่ ต้องจ่ายถึง 2,000 ปอนด์ เป็นค่าฝีมือ ซึ่งจะสังเกตว่าในต่างประเทศพวกงานฝีมือเฉพาะต่างๆ จะมีราคาแพงมากกว่าปกติหลายเท่าและไหนๆ เช็คระบบพวกสวิทช์ต่างๆ จะต้องใช้งานได้ปกติทั้งหมด เพราะส่วนมากแล้วสวิทช์มักจะติดตายตามอายุการใช้งาน…

ถ้ารายการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้คุณรู้สึกสะพรึง จำไว้ว่าทั้งผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ รวมถึงอู่ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางชั้นนำต่างๆ ต่างก็แฮปปี้ในการทำแนวทางการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเสียเงินเพียงหลักร้อยปอนด์ ทำให้ได้รับการซ่อมบำรุงและบริการคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป…

ด้วยจำนวนรถ 3,083 คัน ในรุ่นคูเป้ และ 448 คันในรุ่นหลังคาเปิด (Barchetta) ถูกสร้างในระยะเวลา 5 ปี จน 550 ถูกแทนด้วย 575 M และมีส่วนเกี่ยวข้องว่า รถที่มี Serial เป็นตัวเลขสูงๆ นั่นก็จะมีราคาดีเพราะเป็นช่วงปีท้ายๆ ที่มีความสดใหม่กว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับ Daytona ที่ “ยิ่งเก่ายิ่งแพง” ส่วนราคาที่เหมาะสม พูดถึงก่อนหน้านี้ ถ้าเป็น 550 ปีท้ายๆ ควรจะอยู่ราวๆ 60,000 ปอนด์ ในสภาพทั่วไป แต่ถ้าสภาพ “นางฟ้า” จะดันไปถึง 150,000 ปอนด์ !!! แต่ในปัจจุบัน รถสภาพนางฟ้า วิ่งระยะทางน้อย (น้อยจริง ไม่ใช่กรอไมล์) จะอยู่ราวๆ 115,000-135,000 ปอนด์ สำหรับรถที่วิ่งเยอะ จะอยู่ราวๆ 100,000 ปอนด์ ซึ่งไอ้การจะวิ่งมากวิ่งน้อยมันก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไรนัก เพราะจริงๆ แล้วอยู่ที่ “สภาพรถ” ต่างหาก ซึ่งคุณจะต้องตรวจเช็คให้ถ่องแท้และเด็ดขาดจริงๆ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับ Graypaulบอสใหญ่แห่ง Mario Vignale ได้บอกเรา ซึ่ง 550 จะมีลักษณะการขับด้วยระยะที่ยาวกว่า Exotic Car ส่วนมาก แต่อย่างไรก็ตาม การบำรุงรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด…

สำหรับรถที่โชว์โฉมอยู่ตรงหน้า (กระดาษ) ของท่านนี้ มีระยะทางขับขี่ไปแล้ว 31,600 ไมล์ ส่วนสีก็เป็น Blu Tour De France ที่รู้สึกดึงดูดสายตา รถคันนี้ขายไปด้วยราคา 135,000 ปอนด์ ซึ่งสภาพรถตามคันตัวอย่างนี้ ก็ยังพอจะหาได้อยู่ทั่วไป สำหรับอุปกรณ์เสริมพิเศษอันล่อตาล่อใจนั้นก็มีหลายอย่าง เช่น ภายในตกแต่งด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ แผ่นตรา “ม้าลำพอง” บนแก้มหน้า และสำหรับผู้ที่มือเท้าอันหนักหน่วง และอยากจะพาเจ้า 550 ไปออกกำลังกายดุจม้าแข่งใน Track ก็สามารถหา Fiorano Pack ก็จะอาละวาดได้เต็มที่มากขึ้น ถ้าคุณสามารถหารถผ่าน Ferrari ClassicheDepartment ที่เป็นแผนกซื้อขายและหารถคลาสสิกจาก Ferrari โดยตรง สำหรับรถสภาพสวยจัดๆ ที่ขับมาน้อยมากๆ ราคาจะอยู่ที่ 150,000 ปอนด์ แต่ถ้าจะขนหัวลุกกว่านั้น ต้องเป็นรุ่นหลังคาเปิด Barchetta ที่ราคากระฉูดไปถึง 350,000 ปอนด์ !!!

ดังนั้น มันไม่สามารถจะต่อรองราคากลับไปสู่จุดที่มันเคยเป็นอยู่ได้ในอดีต แต่มันก็ยังทรงคุณค่า และเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย เพราะอย่างไรราคามันก็ไม่มีตกแน่นอน มันเป็นความสัตย์จริงจากนักขับที่มีประสบการณ์สูงทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในการขับขี่อันหลากหลายในรูปแบบ Super-GT ดั่งที่ Mario กล่าวว่า “มันเป็นหนึ่งในรถที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ Ferrari ตลอดกาล” และมันยังดูสวยสดและทรงคุณค่าตั้งแต่วันแรกที่ออกมา…

สมัยหนึ่งเมื่อนักทดสอบได้กล่าวไว้

550Maranello เครื่องยนต์ 12 สูบ เป็นรถที่สวยและทรงพลังที่สุด เท่าที่Ferrari ได้ผลิต Road Car มา เครื่องยนต์ได้รับการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาจาก “Michael Schumacher ยอดนักขับ F1 และเป็นฝ่ายทดสอบให้ Ferrariเขาเคยกล่าวไว้ว่า “ในช่วงเวลาที่ทดสอบ ผมได้รับมอบหมายในการขับและปรับแต่งเครื่อง V12 รุ่นนี้ นอกจากเสียงที่หวานจับใจในรอบสูงแล้ว มันยังตอบสนองได้ยอดเยี่ยมตั้งแต่ออกสตาร์ทกันเลย” เขาก็พูดถูกนะ ในช่วง 3,000 rpm มันสามารถปลดปล่อยม้าออกมาได้ถึง 200 bhp มันจะแสดงพลังที่ทำให้คุณต้องตั้งใจควบคุมมันในช่วงตั้งแต่ 3,000-7,000 rpm ซึ่งมันจะเป็นความก้าวร้าวออกมาทันใด และมาอย่างต่อเนื่องแบบไม่ขาดสาย ซึ่งมันเหมาะมากถ้าคุณชอบเสียงเพลงบรรเลงหวานจากสายเลือดของ Ferrari…

ชื่อเสียงเกียรติภูมิของ 550 หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว โดยเนื้อแท้มันเป็นรถที่ขับง่าย ทัศนวิสัย การเปลี่ยนเกียร์ ตำแหน่งที่นั่ง แป้นเหยียบต่างๆ ซึ่งมันลงตัวและสัมพันธ์กันมาก ในสิ่งตรงกันข้าม ก็ไม่จำเป็นที่ต้องซีเรียสกับการควบคุมมากนัก เพราะด้วยความสัมพันธ์กันระหว่างน้ำหนัก แชสซีส์ การ “สไลด์” หรือ “ดริฟต์” เจ้า Marnello นี้ง่ายเหมือนกับการขับ MX-5 กันเลยทีเดียว คุณเพียงแค่ปิดสวิทช์ Traction เลือกไลน์เข้าดีๆ เตรียมจุ่มคันเร่งและแก้ทิศทางด้วยพวงมาลัยในขณะที่ปลดปล่อยพลังสูงสุด ซึ่งระบบบังคับเลี้ยว ระบบเกียร์ มุมล้อ การสมดุลย์น้ำหนักอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม “Perfect” ซึ่งตัดสินใจโดยไม่ต้องลังเลหากต้องการขับแบบเค้นสมรรถนะสูงสุดเช่นนี้…

เหนือกว่านี้ จังหวะการเปลี่ยนเกียร์นั้นยังรู้สึกยอดเยี่ยมอย่างวิเศษ การออกแบบสรีระของตำแหน่งการขับยอดเยี่ยม การดีไซน์มีระดับจนไม่อยากคิดว่านี่คือรถอิตาลีที่ส่วนใหญ่จะออกแนวดิบๆ มานาน เป็นซูเปอร์คาร์ที่มีชีวิตชีวา ซึ่งมันมีคู่แข่งอันเหมาะสมเพียงแค่ Porsche 911 เท่านั้น…

Montezemoloประธาน Ferrari ยกเคสนี้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือ เราเห็นและรับทราบดีว่า คอนเซ็ปต์ของรถเครื่องวางกลางลำนั้น หากขับจนถึงสุดขีดแล้ว ก็จะเสี่ยงกับอันตรายในลักษณะที่ “หลุดแล้วหลุดเลย” เนื้อที่เก็บของมีจำกัด ห้องโดยสารแคบ เสียงดัง และ ร้อน ซึ่งคนทั่วไปก็อยากที่จะขับ Ferrari ไปทำงานออฟฟิศ วันหยุดก็ขับไปวาดลีลาใน Track Day หรือจะขับไปเที่ยวไกลๆ ในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งเราก็จะต้องทำรถที่รวมคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกัน รวมถึงสมรรถนะการขับขี่ที่สูง แต่ก็ต้องขับได้ทั่วไปแบบปกติเช่นเดียวกัน และต้องไม่ลืมความสะดวกสบายในระดับสูง และสัมผัสได้ถึงความหรูหราในคันเดียว…

เราเห็นด้วยทุกประการนะครับ ว่า 550 เป็นผลผลิตชิ้นเอกในระดับ Masterpiece จากเมือง Maranelloและเป็นรถ GT ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก…

_

บทความแปลโดย Intaraphoom Saengdee
นิตยสาร ENZO Thailand ฉบับที่ 3

 

Share

ใส่ความเห็น