ตอนที่มันปรากฏตัวในปี 1994 F355 ทำเอาแฟนๆ Ferrari ตกหลุมรักจนแทบคลั่ง และวันนี้มันก็ยังปลุกไฟในใจให้ลุกโชนได้เช่นเดิม
Ferrari ต้องการ F355 มาก ถ้าคุณย้อนเวลากลับไปกลางยุค 1990s คุณจะพบว่านั่นไม่ใช่ยุคทองของ Ferrari เลยสักนิด F40 เลิกผลิตไปแล้ว และรถดีที่สุดในมือตอนนั้นก็น่าจะเป็น 456 GT ซึ่งเป็นรถประเภทแกรนด์ทัวริสโม่ซะมากกว่า ส่วนรุ่นที่เหลือก็มีแต่ Mondial หน้าตาเฉิ่ม, 512 TR ที่มีสง่าราศีแต่ก็เริ่มเก่าไปตามกาลเวลา แล้วก็ 348 อีกรุ่นนึงเท่านั้น
อ้อ เจ้า 348.. ที่จริงแล้วมันไม่ได้แย่ขนาดที่พวกผู้เชี่ยวชาญกลางวงเหล้า (หรือพวกนักเลงคีย์บอร์ด) บอกคุณหรอก มันขายดีอีกซะด้วย แล้วมันก็มีพัฒนาการและวิวัฒนาการตามสมควร เพียงแต่รถคันแรกๆ ต้องใช้ฝีมือควบคุมตอนอยู่บนลิมิตมากหน่อยและมันไม่ได้สวยจิ้มลิ้มแบบ 328 แต่เรื่องที่แย่ที่สุดน่าจะเป็นการที่มันให้ความรู้สึกเกรี้ยวกราดและล้าหลังเมื่อเทียบกับ NSX ใหม่ที่แสนฉลาดจาก Honda ซะมากกว่า
NSX พิสูจน์ให้เห็นว่าซูเปอร์คาร์เครื่องวางกลางรุ่นเล็กก็สามารถที่จะซับซ้อนและใช้การได้จริง เช่นเดียวกับให้ความรู้สึกแปลกใหม่และน่าหมายปองได้ นี่จึงเหมือนกับหนามทิ่มแทง Ferrari และทำให้พวกเขาต้องเร่งพัฒนารถที่จะมาแทน 348 จนได้ออกมาเป็น F355 ในที่สุด
น่าทึ่งที่การแก้ไขดีไซน์เพียงเล็กน้อยก็สามารถแปลงโฉม 348 ที่ดูม่อต้อให้ออกมาเป็น 355 ที่ดูผอมเพรียวได้แล้ว มิติตัวรถและภาพเงาร่างแทบไม่ต่างไปจากเดิม มีแต่รายละเอียดเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง เส้นสายโค้งมนกลับมาอีกครั้ง ช่องรับลมโค้งเว้าเข้ามาแทนที่ช่องบานเกล็ด กับไฟท้ายกลมสี่ดวงสุดคลาสสิคถัดลงมาจากฝาท้ายที่ขอบปลายยกขึ้นอย่างแนบเนียน มันเป็นหนึ่งใน Ferrari ที่มีเสน่ห์ที่สุดในตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้
แต่ F355 ก็มีอะไรมากกว่าการแต่งหน้าทาปากมาก ใต้ฝากระโปรงคือเครื่องยนต์ V8 3.5 ลิตร ห้าวาล์วต่อสูบ (จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น) ที่ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่จนเร่งได้ถึง 8,500 รอบ/นาที ด้วยลูกสูบและแครงก์ชาฟท์น้ำหนักเบา มันผลิตกำลังได้ 375 แรงม้า (แรงม้าระดับ 107 ตัวต่อลิตรของมัน นับว่าสูงสุดในบรรดาเครื่องยนต์หายใจเองที่ผลิตขายในตอนนั้น รวมถึงเครื่อง V12 ของ McLaren F1 ด้วย)
เครื่องยนต์พลังแรงถูกจับคู่กับเกียร์ธรรมดาหกจังหวะที่ใช้ชิ้นส่วนเดียวกับ 456 สมรรถนะ 0-62 ไมล์/ชั่วโมง ถูกเคลมเอาไว้ 4.7 วินาที และความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 183 ไมล์/ชั่วโมง (294.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พัฒนาจากตัวเลข 5.6 วินาที และ 171 ไมล์/ชั่วโมง ของ 348 ชนิดเหลือเฟือ
ยังไม่จบแค่นั้น เพื่อที่จะตอกหน้าพวกที่บอกว่า 348 เป็นอะไรที่พื้นๆ คราวนี้แชสซีส์จึงใส่ระบบอิเลกทรอนิกส์เพื่อปรับความหนืดโช้คอัพมาให้ ในขณะที่พวงมาลัยก็มีพาวเวอร์ช่วยผ่อนแรงแล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของซูเปอร์คาร์รุ่นเล็กของ Ferrari ในปี 1997 หลังจากทำตลาดมาได้สามปี F355 ก็เป็น Ferrari รุ่นแรกที่ได้ใช้เกียร์แพดเดิลชิฟท์ ‘F1’ อีกครั้ง โดยมันเป็นออพชันเสริมราคา 6,000 ปอนด์ และเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของการผสมผสานเทคโนโลยีของรถถนนกับรถสนามอย่างเป็นทางการ
มันยังมีเวอร์ชัน GTS ตัวถัง ‘Targa’ ที่ยกแผ่นหลังคาออกได้ด้วย และตั้งแต่ฤดูร้อนปี 1995 เป็นต้นไปก็มีรุ่นเปิดประทุน Spider ออกมา ทั้งสองรุ่นเป็นที่หมายปองอย่างที่สุดและมีเสน่ห์ในแบบของมันเอง แต่ Berlinetta ก็ยังคงเป็นตัวเลือกของนักเล่นรถเช่นเคย แล้วทุกวันนี้พวกมันจะเป็นยังไงกันบ้างหลังเวลาผ่านไปหนึ่งในสี่ศตวรรษ? (ถ้านั่นทำให้คุณรู้สึกแก่สิ้นดี ก็มาร่วมก๊วนกันเถอะ)
ในหลายๆ ด้าน F355 คือ Ferrari เครื่องวางกลางจากยุคดั้งเดิมรุ่นสุดท้าย ด้วยความโครงสร้างตัวถังยังเป็นเหล็กโดยมีชิ้นส่วนตัวถังอลูมิเนียมแค่บางจุด ต่างจากรถรุ่นต่อๆ มาที่โครงสร้างเป็นอลูมิเนียมเป็นหลักและเริ่มมีการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ให้เห็นบ้างแล้ว
ตัวถังมีอยู่สองจุดที่มักจะเจอสนิมง่าย ตามคำบอกเล่าของ Dean Pallett ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกบริการที่ Graypaul Nottingham ที่บอกว่า ‘คุณจะต้องสังเกตซับเฟรมที่รองรับเครื่องยนต์ กับตัวถังช่วงท้ายบริเวณที่เสาเก๋งลงมาบรรจบกับแก้มหลังให้ละเอียด’
จุดแรกมีความซีเรียสมากกว่า โดยคุณจะต้องยกรถขึ้นบนแรมป์ แล้วถอดถาดปิดใต้ท้องออกเพื่อที่จะมองเห็นมันได้ชัดเจน ส่วนจุดหลังนั้นเกิดจากปฏิกริยาเคมีระหว่างเหล็กกับอลูมิเนียม ซึ่งรถส่วนมากจะต้องซ่อมแซมจุดนี้กันหลายต่อหลายครั้งตลอดอายุไข ‘ถ้าคุณเห็นรอยพองบนสี ก็ต้องรีบทำอะไรสักอย่างแล้ว’ Dean บอก ‘นอกจากนั้นก็ควรตรวจเช็คบริเวณที่สุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ชายล่างด้านข้างตัวถัง ซุ้มล้อ และจุดที่ถูกสะเก็ดหินได้ง่าย’
เครื่อง V8 3.5 ลิตร จะมีปัญหาทางกลไกแค่ไม่กี่อย่างถ้ามันได้รับการดูแลตามคู่มือ ซึ่งหมายถึงการเข้าเช็คประจำทุกปีและเปลี่ยนสายพานแคมชาฟท์ทุกๆ การเข้าเช็คครั้งที่สาม ต้องขอบคุณที่ Ferrari ที่เปลี่ยนจากลูกเบี้ยวมาเป็นวาล์วไฮโดรลิกปรับตั้งอัตโนมัติในเครื่อง V8 รุ่นปรับปรุงใหม่ เพราะนอกจากมันจะช่วยช่างให้ทำงานสะดวกขึ้นแล้ว มันก็ช่วยให้เจ้าของรถ F355 สบายกระเป๋าขึ้นด้วยเหมือนกัน
ราคาค่าบริการพื้นฐานอยู่ประมาณ 750 ปอนด์ ส่วนการปลดเครื่องยนต์ลงมาเปลี่ยนสายพานแคมชาฟท์ที่ดีลเลอร์ Ferrari อย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ราว 2,200 ปอนด์ หรือถูกกว่านี้นิดหน่อยถ้าทำที่อู่อิสระ บางแห่งจะเสนอให้เปลี่ยนสายพานโดยไม่ต้องถอดเครื่องยนต์ลงมา แต่ข้อดีของการถอดเครื่องยนต์ออกมาก็คือ คุณจะสามารถสำรวจปัญหาที่กำลังก่อตัวอยู่ เช่น น้ำหรือน้ำมันที่เริ่มซึม ได้ไปด้วยในตัว และยังสามารถเช็คซับเฟรมด้านหลังได้ครบทุกซอกทุกมุม กับเลือกซ่อมจุดที่จำเป็นในทันทีได้ด้วย
ทราบไว้อย่างว่าชุดกล่องควบคุมเครื่องยนต์ Bosch มีการเปลี่ยนรุ่นในปี 1996 รถรุ่นแรกๆ ที่ใช้กล่องรุ่น M2.7 จะมีคันเร่งที่ตอบสนองได้คมกว่า ส่วนรถยุคหลังที่ใช้กล่อง M5.2 นั้นสามารถขับได้ราบลื่นกว่า แต่บางคนก็บอกว่าเรี่ยวแรงของมันหายไปเล็กน้อย
ปัญหานึงที่เจอในรถรุ่นแรกๆ ก็คือปลอกวาล์วสึกเร็วผิดปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนเป็นปลอกรุ่นใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่รถบางคันที่เลขไมล์น้อยมากๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่มันจะยังใช้ปลอกชุดเดิมติดรถอยู่ Dean บอกว่า ‘จุดสังเกตุของอาการนี้ก็คือควันที่ผุดออกมาเป็นดอกเห็ด หลังจากจอดรถทิ้งไว้ที่รอบเดินเบาแล้วขับออกไป’
การทดสอบกำลังอัดและรอยรั่วของกระบอกสูบก็สามารถทำให้ตรวจพบปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน และยังบอกได้ด้วยว่าท่อร่วมไอเสียของรถกำลังรั่วด้วยรึเปล่า ซึ่งเป็นอาการประจำตัวของ F355 Dean บอกว่า ‘ถ้าคุณได้ผ่านตารถมาสัก 2-3 คันแล้ว คุณก็น่าจะเริ่มจับความแตกต่างของเสียงได้แล้วล่ะว่าคันไหนที่ท่อรั่ว!’
ถ้าปล่อยเอาไว้ก็จะทำให้มีความร้อนสะสมในเครื่องยนต์และผลต่อมาคือวาล์วไหม้ได้ ชุดท่อร่วมไอเสียใหม่มีค่าตัวอยู่ที่แบงค์พันปอนด์หนึ่งใบยังไม่รวมค่าติดตั้ง ดังนั้นการซ่อมครั้งนึงก็อาจมีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 3,000 ปอนด์ แล้วในขณะที่เรากำลังอยู่ที่ท่อไอเสียกันอยู่ ตัว Catalyst ก็ขึ้นชื่อว่าแตกง่ายและเป็นอีกตัวการที่ราคาสูงด้วยค่าตัวราว 1,500 ปอนด์ สำหรับลูกสูบแต่ละฝั่ง ยังไม่รวมค่าแรง สิ่งที่จะบอกได้ว่าพวกกลับบ้านเก่าไปแล้วก็คือผงสีขาวที่ปลายท่อไอเสียหรือเสียงสั่นระรัวอยู่ภายในท่อ
เกียร์เป็นลูกเดียวกันหมดไม่ว่ารถคันนั้นจะเป็นเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์แพดเดิลชิฟท์ F1 ซึ่งตัวมันเองไม่ค่อยมีปัญหาให้เห็นเท่าไหร่ ทั้งนี้ ระบบเกียร์ F1 ประกอบไปด้วยคลัทช์แห้งหนึ่งชุดและตัวกระตุ้นการทำงานแบบ Electro-hydraulic ซึ่งก่อนหน้านี้จะคุณจะต้องซื้อชุดยกชุดสถานเดียวที่ราคาแพงอย่างโหดร้าย แต่ตอนนี้คุณสามารถซื้ออะไหล่แยกทีละชิ้นได้แล้ว เช่น วาล์ว ฯลฯ ทำให้ค่าซ่อมลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
กระนั้นมันก็สำคัญที่คุณจะต้องเช็คให้แน่ใจว่ามันยังทำงานได้ดีอยู่ การจับตัวของคลัทช์ควรจะราบลื่นและฉับไวทั้งในโหมด Auto และ Manual และก้มลงไปเช็คที่ใต้หลังกันชนหลังฝั่งซ้ายให้แน่ใจด้วยว่ามันไม่มีอะไรรั่ว
คลัทช์มีอายุการใช้งาน 20,000 ไมล์ สำหรับเกียร์ธรรมดาและ 15,000 ไมล์ สำหรับเกียร์ F1 หรือมากกว่านั้นถ้าคุณขับบนมอเตอร์เวย์เป็นประจำ ดีลเลอร์หรืออู่ที่มีเครื่องมือตรวจเช็คจะสามารถบอกคุณได้ว่าคลัทช์ยังเหลืออีกเท่าไหร่ โดยราคาของมันอยู่ที่ 1,300 – 1,500 ปอนด์ ดังนั้นรู้ล่วงหน้าไว้ก่อนก็ดี
ชิ้นส่วนช่วงล่างพวกวิชโบน ลูกหมาก บุชยาง ฯลฯ ไม่ค่อยมีปัญหานอกเหนือไปจากการสึกหรอตามปกติ ส่วนโช้คอัพนั้นรั่วง่ายและมีปัญหาที่ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์เป็นประจำ แต่แทนที่คุณจะต้องเปลี่ยนมันยกชุด ตอนนี้ก็สามารถโอเวอร์ฮอล์ได้แล้วในงบราว 400 ปอนด์ต่อข้าง เพราะฉะนั้นนี่ก็ไม่ใช่รายการที่ทำให้กระเป๋าแฟ่บเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อนอีกต่อไปแล้ว การปรับโหมดระหว่าง Comfort กับ Sport ระหว่างทดลองขับจะทำให้ปัญหาใหญ่ที่แอบซ่อนอยู่แสดงตัวออกมา และถ้ามีไฟเตือนติดขึ้นบนหน้าปัด นั่นก็หมายความว่า Actuator เสียแล้ว
‘ถ้าผมเป็นคนตรวจรถเอง ผมก็จะตรวจดูแร็คพวงมาลัยด้วยว่ามันมีระยะฟรีหรือรอยรั่วไหม’ Dean กล่าว ‘เพราะการซ่อมแต่ละครั้งเป็นงานหนักพอสมควร ล้อเป็นแมกนีเซียมอัลลอย ซึ่งเราต้องคอยเช็คดูรอยผุและกับร้าวบริเวณรอบๆ ดุมล้อกับรูน็อตอยู่เสมอ’ สำหรับยางเจ้าของรถส่วนใหญ่มักจะเลือก Pirelli P-Zero แบบเดิมที่ติดรถออกมาจากโรงงาน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังหาได้ง่ายอยู่
ภายในคอกพิท ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือเนื้อยางที่เคลือบอยู่บนพวกสวิทช์ มือจับประตู และช่องแอร์ต่างๆ ที่จะกลายสภาพมาเป็นของเหนียวๆ เมื่อโดนน้ำยาทำความสะอาด แต่ส่วนที่เหลือทุกอย่างก็ดูจะทนทานดี
แล้วอย่างนั้นควรจะซื้อรุ่นไหน? Berlinetta เกียร์ธรรมดาย่อมเป็นตัวเลือกของนักเล่นรถตัวจริง และน่าจะกลายมาเป็นรุ่นที่ควรซื้อเก็บมากที่สุดในหลายปีข้างหน้า ในอังกฤษรถพวงมาลัยขวาสภาพดีประวัติสวยตอนนี้ขายกันอยู่ที่ 100k ปอนด์ขึ้นไป ส่วนรุ่น Spider กับ GTS จะถูกกว่าเล็กน้อย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องต้องการว่าราคาน่าจะค่อยๆ ไต่ขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนอีกเรื่องที่พวกเขาเห็นด้วยเหมือนกันก็คือ F355 เองนั้นไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นปอนด์และเพนซ์ได้หรอก
นักทดสอบในยุคนั้นว่ายังไงกันบ้าง
‘ผมผลักลูกบอลอลูมิเนียมขัดมันไปด้านหน้า ด้ามเกียร์โยกลงล็อกพร้อมกับเสียงแคล็ก! ตามธรรมเนียม คลัทช์จับตัวอย่างราบเรียบแล้วเราก็ค่อยๆ คลานเข้าสู่สนาม ความรู้สึกตอนเปลี่ยนเกียร์เป็นไปตามฉบับ Ferrari แท้ๆ คือฝืดนิดๆ แต่แม่นยำไร้ที่ติ ระยะการทำงานสั้นขึ้นและเบาขึ้น ในขณะที่คลัทช์ยังคงหนักอึ้งแต่มีน้ำหนักหน่วงเท้าที่ทำได้อย่างงดงามราวกับลูกสูบแม่ปั๊มจากกระป๋องใส่น้ำเชื่อมสีทองยี่ห้อ Lyle มันดีจนเกือบจะไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้
รอบซ้อมมือ 2-3 รอบ เผยให้เห็นว่าน้ำหนักพวงมาลัยทำออกมาได้ดี และเครื่องยนต์ก็ส่งกำลังออกมาได้อย่างงดงามโดยไม่มีจังหวะกระโชกโฮกฮาก พื้นสนามอาจจะเรียบแต่คุณก็ยังสัมผัสได้ว่าช่วงล่างซับแรงสะเทือนได้ดี เอาล่ะ..เกริ่นกันมามากพอแล้ว ขีดแดงถูกระบุไว้ที่ 8,500 รอบ/นาที เหยียบคันเร่งจมมิดในเกียร์สามที่รอบต่ำ แล้วเสียงโทนทุ้มอยู่ในอกก็ถูกนำด้วยเสียงแหลมใสที่จะทวีความเกรี้ยวกราดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรอบเครื่องไต่สูงขึ้นจนไปถึง 6,000 รอบ/นาที ทุกอย่างจะหยุดพักเพื่อเตรียมความเร่งด่วนรอบใหม่
รอบๆ Fiorano มันมีผลงานจากความละเอียดอ่อนมากมายที่แสดงให้เห็น เป็นไปได้ยังไงที่รถหัวไม่ทิ่มตอนคุณเบรกตัวโก่ง? ทำไมหน้ารถไม่ยกขึ้นพร้อมกับพวงมาลัยรู้สึกหวิวๆ ตอนเร่งออกจากโค้ง? ทำไม F355 ถึงไม่เหวี่ยงผมทิ้งเหมือนรถเครื่องวางกลางทั่วไปที่คนขับเบรกตอนเริ่มหักเลี้ยว หรือถอนเท้าออกทันทีแล้วกดคันเร่งส่งเร็วไป?
มันต้องเป็นเพราะโช้คอัพไฟฟ้าแน่ๆ แต่ระบบที่คล้ายคลึงกันในท้องตลาดก็มีทั้งแบบที่สัมผัสความแตกต่างไม่ได้เลย, มากเกินไป, หรือทำให้รถมีอาการแปลกๆ ได้ แต่ของติดรถชุดนี้ดูทรงแล้วน่าจะใช้ได้
ที่โค้งแฮร์พินเกียร์สองแห่งนึง ผมลองกดคันเร่งส่งมันเร็วกว่าปกติเพื่อที่จะดูอาการของรถ มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรและโชคชะตาระหว่างผมกับ F355 รุ่นนี้ ซึ่งไม่ได้ออกมาตบหน้าใคร เพราะ Honda เองไม่ได้ผลิตรถซูเปอร์คาร์เครื่องวางกลางที่เป็นมิตรกับคนขับอีกต่อไปแล้ว แล้วคันของผมขอเป็นสีเหลือง Marine yellow ได้ไหม?
–
บทความโดย Peter Tomalin
นิตยสาร Enzo Thailand ฉบับที่ 3
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น