Ferrari History: One Boy’s Dream

เส้นทางม้าลำพอง : ความฝันของเด็กชายคนหนึ่ง

ทุกตำนานล้วนมีที่มาและบุคคลในตำนานนั้นแม้จะไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์หรือจะไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดแต่ด้วยแรงพลักดันอันยิ่งใหญ่ในตัวเขาทำให้เขาสามารถใช้เวลาในหนึ่งช่วงชีวิตสร้างอาณาจักรและตำนานที่ยิ่งใหญ่ให้อยู่คู่กับโลกนี้ได้ชีวิตของเอ็นโซ อันเซลโม เฟอรารี่” (Enzo Anselmo Ferrari) หรือเอ็นโซ เฟอรารี่ทารกน้อยเพศชายผู้ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางพายุหิมะของฤดูหนาวในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ปี 1898 หรือกว่า 120 ปีก่อนในเมืองโมเดนา (Modena) เมืองทางตอนเหนือของอิตาลีก็เช่นกัน

ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงงานขึ้นรูปโลหะแต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีฐานะมั่งคั่งอะไรจึงทำให้ตัวของเอ็นโซน้อยนั้นไม่ได้รับการศึกษาที่ดีในช่วงเยาว์วัยแต่สิ่งเหล่านั้นหาใช่ข้อจำกัดที่จะห้ามมิให้เขามีความฝันไม่ดังเช่นเด็กชายจำนวนมากในช่วงเวลานั้นโลกของความเร็วและการแข่งรถยนต์เป็นดั่งความฝันของพวกเขาครอบครัวของเขาได้ไปชมการแข่งรถรอบเมืองโบโลญา (Bologna)ในปี 1908 ที่มีชื่อว่า “1908 เซอกุยโตดิโบโลญ่า” (Circuito di Bologna) (อันเป็นการแข่งวิ่งที่มีระยะทาง 52 กิโลเมตร ต่อรอบบนถนนสาธารณะและเมื่อแข่งจบจะมีระยะรวม 528 กิโลเมตร) นี่ถือได้ว่าเป็นการเปิดโลกของการแข่งรถยนต์ให้กับเอ็นโซน้อยในวัย 10 ขวบเป็นครั้งแรกและสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเดินทางเข้าสู่เส้นทางสายความเร็วในเวลาต่อมา (อาจจะยากที่เราจะจินตนาการถึงการแข่งรถในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่เมื่อพิจารณาว่ารถเฟียตที่ชนะเลิศสามารถทำความเร็วเฉลี่ยได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงบนถนนที่เป็นดั่งถนนแรลลี่ในปัจจุบันก็คิดว่าเร็วและบ้าบิ่นไม่น้อย)

ขึ้นชื่อเรื่องความฝันแล้วสำหรับหลายคนแล้ว ความฝันคงเป็นสิ่งลม ๆ แล้ง ๆ เพราะไม่รู้ที่จะเปลี่ยนให้มันเป็นความจริงได้อย่างไรสถานการณ์และคนรอบข้างนั้นบ่อยครั้งก็พยายามที่จะบอกเราให้เราหยุดฝันแล้วกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริง

ชีวิตในวัยหนุ่มของเอ็นโซ่ก็เช่นกันแทนที่จะได้เดินทางเข้าสู่เส้นทางแข่งรถอย่างที่ฝันกลับต้องเจอกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ซึ่งชายหนุ่มอย่างเขาได้เข้าร่วมเป็นทหารปืนใหญ่และความแร้นแค้นของสงครามได้สร้างความบอบช้ำให้กับทุกๆคนรวมถึงครอบครัวของเขาที่พ่อและพี่ชายต่างก็เสียชีวิตไปเพราะโรคระบาดรวมถึงตัวเขาเองก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากโรคหวัดครั้งใหญ่ในปี 1918 อีกด้วย

การสูญเสียพ่อและพี่ชายในครั้งนั้นส่งผลโดยตรงกับกิจการโรงงานของครอบครัวและเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในปี 1918 เขาก็ถูกปลดออกจากเป็นทหารและได้เริ่มออกหางานเพื่อเลี้ยงปากท้องแน่นอนว่าคงจะมีหลาย ๆ คนบอกเขาว่างานอะไรก็ทำไปเถิดอย่าเลือกงานแต่เขายังไม่ละทิ้งความฝันที่เขาจะฝากอนาคตของเขาไว้กับสิ่งที่เรียกว่ารถยนต์

แน่นอนว่าชีวิตนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะช่วงหลังสงครามเศรษฐกิจย่อมฝืดเคืองและสำหรับคนที่ไม่มีการศึกษามากมายนักอย่างเขาคงไม่มีสิทธิ์จะเลือกงานแต่เหมือนพระเจ้าได้เล็งเห็นในความพยายามของเขาเพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ได้งานเป็นนักขับรถทดสอบให้กับบริษัท CMN (Costruzioni Meccaniche Nazionali) ผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งในเมืองมิลาน (Milan) ที่ซึ่งเขาได้มุนามะจนได้กลายเป็นนักแข่งของบริษัทสมตามความฝันในปี 1919

ความฝันด้านความเร็วของเขาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้นเขาได้พิสูจน์แล้วว่าตัวเขากับความเร็วนั้นเป็นของคู่กันถัดมาในปี 1920 เขาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของทีมแข่งของอัลฟ่าโรเมโอ (Alfa Romeo) โดยหนึ่งในภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงและจดจำได้ดีของเขาก็คือภาพของเขากับรถแข่งอัลฟ่าโรมิโอหมายเลข 14 ก็ในรายการ Targa Florio ในปี 1920 นั่นเอง

แต่ในการแข่งขันในวัยหนุ่มของเขานั้นมีการแข่งหนึ่งที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในตำนานของเฟอรารี่ในเวลาต่อมานั่นก็คือการแข่งรายการเซอกุยโตเดลซาวิโอ” (Circuito del Savio) ครั้งที่ 1 ในปี 1923 อันเป็นการแข่งบนถนนสาธารณะความยาวต่อรอบ 44 กิโลเมตรรวม 6 รอบสนามที่เขาสามารถนำรถแข่งอัลฟ่าโรเมโออาร์แอล (Alfa Romeo RL) เข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับหนึ่งและเมื่อรับรางวัลแล้วเขาได้พบกับท่านเคาท์บาราคคา (Count Baracca) ผู้ซึ่งเป็นบิดาของฟรานเชสโก บาราคคา” (Francesco Baracca) วีรบุรุษเสืออากาศผู้เลื่องชื่อของกองทัพอากาศอิตาลีผู้มีชัยในยุทธเวหาถึง 34 ครั้ง (แต่ได้เสียชีวิตไปในยุทธเวหากับกองทัพอากาศออสเตรีย)

เคาท์บาราคคาได้กล่าวชื่นชมความสามารถของเอ็นโซและบอกเขาว่าเครื่องบินของลูกชายของเขานั้นมีรูปม้าสีดำยืนสองขา” (ที่มีชื่อเป็นทางการว่า “Cavallino Rampante” หรือคาวาลิโนแรมพันเต ,อันแปลเป็นไทยได้ว่า ม้าลำพอง”) อันเป็นตราประจำตระกูลของ เคาท์ บาราคคา ติดเอาไว้และมันเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีมีชัยจึงอยากให้เอ็นโซลองวาดรูปม้าลำพองลงบนรถแข่งบ้าง

ตำนานเกี่ยวกับที่มาของตราม้าลำพองนั้นมีหลายกระแสบางตำนานบ้างก็ว่าฟรานเชสโกบาราคคาได้มอบสร้อยคอรูปม้าลำพองเป็นที่ระลึกให้กับเอ็นโซไว้ก่อนจะขึ้นบินและถูกยิงตกเพื่อเป็นการระลึกถึงฟรานเชสโกเอ็นโซ่เลยนำเอาสัญลักษณ์ม้าลำพองมาติดไว้ข้างรถตำนานนี้อาจจะฟังดูโรแมนติคอย่างประหลาดไปเสียหน่อยซึ่งสุดท้ายนี้ก็แล้วแต่ว่าท่านผู้อ่านจะเชื่อตำนานบทใดก็แล้วแต่ผู้เขียนไม่สามารถพิสูจน์ได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นเช่นไรเอ็นโซในวัยหนุ่มก็ชื่นชอบตราม้าลำพองนี้และได้ปรับให้เป็นตัวของตัวเองด้วยการปรับพื้นภาพจากสีขาวของตระกูลบาราคคามาเป็นพื้นสีเหลืองอันเป็นสีของเมืองโมเดนาในเวลาต่อมาถือเป็นเอกลักษณ์และจุดเริ่มต้นของตำนานม้าลำพองที่ติดตั้งเป็นครั้งแรกบนรถอัลฟ่าโรเมโอของทีมสคูเดอเรียเฟอรารี่” (Scuderia Ferrari)ในปี 1929 หลังจากที่เขายอมรับว่าตัวเขามีวัยที่มากขึ้นและต้องการสร้างครอบครัวอีกทั้งอัลฟ่าโรเมโอเองก็ต้องการที่จะขยายขนาดของทีมแข่งให้ใหญ่ขึ้นทำให้เขาต้องลดบทบาทของการเป็นนักแข่งและผันตัวมาเป็นผู้สร้างและบริหารทีมแข่งตั้งแต่นั้นมานั่นเอง

เมื่อเข้าสู่ปี 1933 สถานการณ์ในวงการแข่งรถเริ่มเปลี่ยนไปประเทศเยอรมนีภายใต้การนำของพรรคนาซีหรือในเวลานั้นคืออาณาจักรไรน์ที่ 3” ได้ถือกำเนิดขึ้นและภายใต้การนำของพรรคนาซีที่ยกเอาเรื่องของชาติพันธ์ที่เป็นเลิศการแข่งรถถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีในการแสดงให้เห็นว่าวิทยาการและวิศวกรรมของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของชาวอารยันนั้นไร้เทียมทานเราได้เห็นรถแข่งของทีมเอาโต้ยูเนี่ยน (Auto Union) และเมอร์ซีเดส (Mercedes) สร้างความสั่นสะเทือนในวงการแข่งรถอย่างต่อเนื่อง

ทีมแข่งจากอิตาลีต่างต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้รับมือกับทีมแข่งจากเยอรมนีและสคูเดอเรียเฟอรารี่เองก็ต้องวิ่งสู้ฟัดไม่แตกต่างจากทีมอื่นแต่ก็สามารถทำได้สำเร็จโดยสามารถเอาชนะทีมจากเยอรมนีได้ในการแข่งเยอรมันกรังปรีซ์ 1935 เป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับสคูเดอเรีย เฟอรารี่ของพวกเขาไม่น้อย

แต่แล้วในปี 1937 บริษัทอัลฟ่าโรเมโอมีความเห็นที่จะไม่ต่อสัญญากับสคูเดอเรียเฟอรารี่และเริ่มต้นที่จะสร้างทีมแข่งเป็นของบริษัทเองในชื่อว่าอัลฟ่าคอร์เซ่ (Alfa Corse) โดยเสนอให้เอ็นโซ่นั้นเป็นผู้อำนวยการทีมแข่งแต่ดูเหมือนว่าบ้านหลังนี้อาจจะเล็กเกินไปสำหรับเอ็นโซ่แล้วก็ได้ในปี 1939 เขาได้ขอลาออกจากอัลฟ่าโรเมโอพร้อมกับสัญญาลูกผู้ชายว่าภายใน 4 ปีถัดไปจะไม่มีใครใช้ชื่อเฟอรารี่ในธุรกิจที่ว่าด้วยพัฒนาและการแข่งรถเพื่อแข่งกับอัลฟ่าโรเมโอ

เขานั้นทำตามสัญญาเพราะหลังจากที่เขาได้ลาออกมาเขาก็ได้เปิดบริษัทที่มีชื่อว่าออโตอาวิโอคอนสตรูซิโอนี” (Auto-Avio Construzioni) หรือแปลได้ว่าผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยานมีชื่อย่อว่า AAC แม้เขาจะให้สัญญาว่าเขาจะไม่ผลิตรถยนต์ในชื่อเฟอรารี่แต่ในปี 1940 เขาก็ได้สร้างรถแข่งในยี่ห้อ AAC รุ่น 815 ( AAC Tipo 815) ขึ้นมา 2 คันเป็นรถสปอร์ตเปิดหลังคาสไตล์บาเซ็ตต้า (Bachetta อันแปลว่าเรือลำน้อย) ที่พัฒนาขึ้นจากแชสซีส์และเครื่องยนต์ 4 สูบเรียงของรถเฟียต (Fiat) 508 C ขนาด 1,100 ซีซีที่นำมาพัฒนาต่อโดยทีมงานของอัลฟ่าโรเมโอที่ออกมาพร้อมกับเอ็นโซ่ในเวลานั้น

ทีมงานวิศวกรรมได้นำเครื่องจำนวน 2 เครื่องหันท้ายมาต่อกันจนกลายเป็นเครื่องยนต์ชนิด 8 สูบเรียง (SOHC I8) ขนาด 1.5 ลิตร (เพื่อเข้าแข่งในคลาส 1.5 ลิตร) มีกำลัง 75 แรงม้าส่วนตัวถังนั้นสร้างขึ้นจากอินทาลูแม็ก 35 (Itallumag 35) อันเป็นวัสดุผสมระหว่างอลูมิเนียมและแมกนีเซียมอัลลอยด์สร้างขึ้นที่โรงต่อรถคารอซเซอเรียทัวริ่ง” (Carrozeria Touring) ผู้เชี่ยวชาญการสร้างตัวถังน้ำหนักเบาหรือที่เรียกกันว่าซุปเปอร์เลจเจร่า (Superleggera) ตัวถังนั้นหนักเพียง 54 กิโลกรัมโดยสุดท้ายน้ำหนักรวมของรถ AAC Tipo 815 อยู่ที่ 625 กิโลกรัมสามารถทำความเร็วได้ถึง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันแต่ AAC Tipo 815 ก็สามารถถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของรถยนต์เฟอรารี่ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ก็ไม่ผิดนักและปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 1 คันในโลกเท่านั้นส่วนมูลค่านั้นยากที่จะประเมินได้

วิบากกรรมยังคงไม่ผ่านพ้นไปเพราะต่อมาไม่นานนักทวีปยุโรปก็เข้าสู่กลียุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุให้ในปี 1943 เอ็นโซ่ เฟอรารี่ ตัดสินใจย้ายที่ทำการของโรงงานจากในเมืองโมเดน่าไปสุ่ตำบลเล็กๆที่ตั้งห่างออกไปจากที่ตั้งเดิมเพียง 18 กิโลเมตรมีชื่อว่า มาราเนลโล่ (Maranello) ส่วนหนึ่งนั้นมาจากคำสั่งของรัฐบาลที่ต้องการให้ลดการกระจุกตัวของแหล่งอุตสาหกรรมในช่วงสงครามซึ่งก็ตรงกับใจของเขาเพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่าในทำเลเดิมนั้นมีพื้นที่จำกัดเกินไปสำหรับการขยายตัวในอนาคตและต่อมามาราเนลโล่นั้นเองก็ได้กลายเป็นบ้านของรถยนต์เฟอรารี่มาจนถึงทุกวันนี้

ในระหว่างสงครามโรงงานที่ มาราเนลโล่ นั้นไม่ได้สร้างรถแข่งแต่อย่างใดเพราะถูกรัฐบาลสั่งให้ผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์สำหรับสงครามซึ่งนำมาสู่การโดนทหารสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายโรงงานลงส่งผลให้เมื่อสงครามจบลงในปี 1945 เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการรื้อฟื้นสภาพโรงงานที่ถูกทำลายลงและในเวลาเดียวกันสัญญาลูกผู้ชายที่ทำไว้กับ อัลฟ่า โรเมโอ ก็จบลงตามไปด้วยทำให้ตัวเขาสามารถเริ่มแผนการของการสร้างแบรนด์รถแข่งที่ใช้นามสกุล เฟอรารี่ของเขาได้อย่างเป็นทางการและในความคิดของเขารถยนต์คันนั้นจะต้องโดดเด่นด้วยเครื่องยนต์และการออกแบบที่ไม่ยึดติดกับอดีต

ในวันที่ 12 มีนาคม 1947 คือวันที่รถยนต์ยี่ห้อ เฟอรารี่ ได้เผยโฉมบนถนนเป็นครั้งแรกก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พฤษภาคม 1947 โดยรถคันนั้นมีชื่อว่า เฟอรารี่ 125 เอสหรือ 125 สปอร์ต (Ferrari 125 Sport) รถสปอร์ตน้ำหนักเบาสไตล์บาเซ็ตต้าที่มาพร้อมเครื่อง V12 ขนาด 1.5 ลิตร 118 แรงม้าที่ 6,800 รอบ/นาทีส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะถือเป็นปีแรกที่มีรถแข่งที่ใช้ตราเฟอรารี่เข้าแข่งขันและหลังจากที่คว้าชัยชนะเป็นที่หนึ่งของรุ่นใน กรังปรีซ์ ออฟโรม (Grand Prix of Rome) และคว้าชัยหกจากสิบสี่รายการในปี 1947 จากนั้นมาก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จักรถแข่งนามว่าเฟอรารี่อีกต่อไป!

 

Share

ใส่ความเห็น