ชัยชนะครั้งหลังสุดของ Ferrari ที่ Le Mans ยังคงน่าแปลกใจมาจนถึงตอนนี้ กับรถที่ไม่น่าจะแข่งได้จนจบด้วยซ้ำ
Le Mans 24 Hours เป็นงานแข่งที่มักจะจบแบบหักมุมอยู่เสมอ เรื่องนี้นักขับทีม Toyota คงช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดี ตอนที่เครื่องพังก่อนเข้าเส้นชัยอันดับหนึ่งในรอบสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว แต่ผมไม่คิดว่าในประวัติศาสตร์จะมีม้ามืดที่คนดูคาดไม่ถึงได้มากเท่ากับงานแข่งที่เจ๋งที่สุดในโลกในปี 1965 อีกแล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่ Ferrari เท่านั้นที่ชนะไปแบบงง ๆ ทั้ง ๆ ที่รถของพวกเขาเทียบไม่ติดฝุ่นกับรถแข่งที่เร็วที่สุดในสนาม นักขับของทีมก็อิดออดไม่อยากจะมาขับให้ด้วยซ้ำ และถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่มากพอ หลักฐานชิ้นนึงที่ถูกบันทึกไว้ระบุว่าตอนที่มันทำท่าจะได้แชมป์ มันเกือบจะโดนล้มเกมส์โดยไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็น Enzo Ferrari เองซะด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายนั่นก็เป็นชัยชนะครั้งที่ 9 ของ Ferrari ซึ่งนอกจากจะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับรายการคลาสสิคของฝรั่งเศสแล้วก็น่าจะพิลึกพิลั่นที่สุดด้วย อย่างน้อยก็เพราะจนทุกวันนี้พวกเขายังไม่แน่ใจเลยว่าใครขับกันแน่ด้วยซ้ำ
เรื่องเดียวที่ทุกคนพูดตรงกันก็คือก่อนที่การแข่งจะเริ่มต้นขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์ Ford หรือ Ferrari คือตัวเต็งแชมป์ และเงินพนันทั้งหมดก็เทไปทางพวกมะกัน Ford เริ่มเข้ามาแข่ง Le Mans ในปีก่อนหน้าด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือการโค่น Ferrari และถึงแม้พวกเขาจะทำไม่ได้ตามเป้า แต่นั่นก็ยังพูดได้ว่ามันเป็นปีสำหรับการซ้อมมือของพวกเขาเท่านั้น ในปี 1965 Ford กลับมาพร้อมกับ GT40 ไม่ต่ำกว่าหกคัน สี่คันในนั้นมีเครื่อง 4.7 ลิตร V8 อยู่ใต้ฝาครอบเครื่อง ซึ่งก็แย่พอดูอยู่แล้วเพราะนั่นมันใหญ่กว่าเครื่องความจุใหญ่ที่สุดที่ Ferrari มีในตอนนั้นเสียอีก แต่ Ford ก็ยังอุตส่าห์ส่ง GT40 MkII ที่มีเครื่อง V8 ความจุไม่ต่ำกว่า 7 ลิตร มาอีกสองคัน แถมยังจัดทีมนักขับมือฉกาจอย่าง Bruce McLaren, Phil Hill และ Chris Amon มาให้มันอีก
ในทางตัวเลข Ferrari ยังพอจะได้เปรียบอยู่บ้างด้วยจำนวนรถที่ลงแข่งถึง 10 คัน แต่มี 3 คัน เท่านั้นที่เป็นรถสปอร์ต P2 รุ่นล่าสุดจากทีมโรงงาน ส่วนอีก 7 คัน เป็นรถจากทีมแข่งส่วนตัว โดย5 คันเป็น 250 LM ที่ถูกจัดมาลงคลาสโปรโตไทพ์ เพียงเพราะว่า Ferrari ขอรับรองโฮโมโลเกชันเพื่อทดแทน 250 GTO ในคลาส GT ไม่สำเร็จ แต่ด้วยเครื่อง 3.3 ลิตร แคมเดี่ยว ความเร็วของพวกมันจึงไม่มีทางเทียบติด P2 เครื่อง 4.0 ลิตร ทวินแคม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะได้ส่วน GT40 นั้นคงไม่ต้องพูดถึง
นอกจากรอบฝึกซ้อมที่เสียเปล่าไปกับพายุฝนที่ซัดกระหน่ำลงมาไม่หยุดแล้ว ผลการจัดอันดับสตาร์ทก็เป็นอะไรที่คาดเดาได้ ตำแหน่งผู้นำมี Ford ของ Amon/Hill ที่เร็วกว่ารถคันอื่น ๆ อย่างน่าสะพรึงอยู่ถึง 5 วินาที อันดับถัดมาเป็น P2 ของ John Surtees กับ Lodovico Scarfiotti ต่อมาด้วย Ford อีกสามคันในกลุ่ม Top 5เมื่อมันเป็นแบบนี้ก็คงไม่มีใครให้ความสนใจกับ LM ที่ส่งลงแข่งโดยผู้นำเข้า Ferrari แห่งทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งจอดอยู่อย่างเฉา ๆ ในอันดับที่ 11 และทำเวลาตามหลังรถคันนำอยู่ถึง 12 วินาที ถ้านี่มันฟังดูช้า ก็ลองนึกเทียบเป็นระยะทางทั้งหมดของการแข่งขันดูสิครับ นั่นจะออกมาเท่า ๆ กับเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ กันเลยทีเดียว จริงอยู่ที่ LM คันนั้นถูกขับโดยนักแข่ง Formula 1 ถึงสองคน แต่หนึ่งในนั้นก็ไม่ใช่นักขับแถวหน้าอีกต่อไปแล้ว ส่วนอีกคนก็นับว่าอาชีพยังแทบจะไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวเราค่อยกลับมาพูดถึงพวกเขากัน
การแข่งเริ่มต้นขึ้น Ford 7 ลิตร ทั้งสองคันพุ่งทิ้งรถแข่งคันอื่น ๆ ออกไปไกลลิบ ซึ่งไม่มีใครแปลกใจเท่าไหร่ แต่แทบจะในทันทีแผนการณ์อันท้าทายของ Ford ก็เริ่มจะล้มไม่เป็นท่าจนชาว Maranello ดีใจกันออกนอกหน้า อย่างแรกคือ Ford ปอดโตทั้งสองคันซดน้ำมันอย่างหิวกระหาย ความได้เปรียบของพวกมันจึงถูกลบเหลี่ยมไปกับการที่พวกมันต้องแวะเติมน้ำมันบ่อยเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่หนักหนากว่านั้นก็คือ Ford ดูเหมือนจะลืมคิดไปว่าแรงบิดมหาศาลของเครื่องความจุโตจะสร้างบาดแผลให้กับเกียร์เอาไว้มากขนาดไหน ไม่นานพวกรถ 7 ลิตร ก็เริ่มเจอปัญหาใส่เกียร์ไม่เข้า แต่ที่แย่กว่านั้นคือแม้แต่ GT40 เครื่องเล็กเองก็เจอกับปัญหาสารพัดหลังจากผ่านไปสามชั่วโมง (หรือแค่ 1/8 ของระยะทางทั้งหมด) Ferrari ก็ขึ้นมายึดตำแหน่ง Top 5 ได้หมด และหลังจากหกชั่วโมงก็ไม่เหลือ GT40 วิ่งอยู่ในสนามเลยแม้แต่คันเดียว สำหรับ Ford นี่เท่ากับการเสียหน้าครั้งใหญ่แต่สำหรับทีมโรงงานของ Ferrari ซึ่งเตรียมใจมาแพ้อยู่แล้วนั้น พวกเขาก็ได้แพ้ตามที่เตรียมใจมานั่นแหละ
ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าไหร่ก็คือ ความสำเร็จของ Ferrari โดยเฉพาะในรายการระยะไกลแบบนี้ มักจะขึ้นอยู่กับความทนของรถจาก Maranello มากพอ ๆ กับความเร็วของมันเราจะชอบมองรถแข่งอิตาเลียนพันธุ์แท้ว่าเป็นรถที่ถูกเค้นพละกำลังจนเปลี้ยและแปรปรวนจนน่าปวดหัวที่มีนักแข่งกับทีมวิศวกรที่ตื่นเต้นจนเกินเหตุอยู่เบื้องหลัง แต่แท้จริงแล้ว Ferrari เป็นทีมที่แข็งแกร่งและเตรียมตัวมาอย่างดี บ่อยครั้งที่พวกเขาชนะด้วยการวิ่งจนจบสนามในขณะที่คนอื่นพังไปก่อน
แต่ไม่ใช่หนนี้ รถคันแรกๆ ที่เริ่มออกอาการกลับเป็น 250 LM ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่รถตัวเต็งของทีม North American Racing อย่าง P2 4.4 ลิตร แคมเดี่ยว ที่ขับโดย Nino Vaccarella และ Pedro Rodriguez ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยซ้ำLM กะโผลกกะเผลกกลับเข้ามาในพิทด้วยเครื่องที่จุดระเบิดแค่ 6 จาก 12 สูบ โดยมีMasten Gregory ชาวอเมริกันที่เป็นรู้จักกันในนาม ‘Kansas City Flash’ หรือ ‘นักซิ่งสายฟ้าแห่ง Kansas City’อยู่หลังพวงมาลัย ส่วนJochen Rindt ชาวออสเตรียที่เพิ่งจะเริ่มแข่ง F1 ไปได้ฤดูกาลเดียวนั้นรอสลับขึ้นไปขับแทนอยู่ ปัญหาที่เกิดไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าคอนเดนเซอร์เสีย แต่ก็ต้องใช้เวลาหาสาเหตุกันถึงครึ่งชั่วโมง ทำให้ตอนที่ Rindt ติดเครื่อง LM ในพิทเลนแถว ๆ สะพาน Dunlop พวกเขาก็ตกอันดับไปไกลแล้ว
ในทางใดทางนึง ทั้ง Rindt และ Gregory ก็ไม่ได้อยากมาอยู่ที่ Le Mans ในสุดสัปดาห์นั้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในรถที่โอกาสชนะเป็นศูนย์ และดูเหมือนว่าเวลาที่เสียไป 30 นาที นั้นคือฟางเส้นสุดท้าย ในระหว่างที่พวกเขารอรถที่กำลังซ่อม มีคนเล่าว่าพวกเขาตกลงกันว่าจะเหยียบมันให้มิดไปเลย เพราะนั่นไม่ได้แค่จะแก้เบื่อได้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะได้เสร็จงานตั้งแต่หัวค่ำได้มากสุด ๆ อีกด้วย น่าเบื่อ? การขับ 250 LM ที่ Le Mans ? นั่นคงจะเป็นมิติของนักแข่งอาชีพเมื่อ 52 ปี ที่แล้วสินะ
ในขณะเดียวกัน ไกลออกไปที่หัวแถวของการแข่งFerrari คันอื่น ๆ ก็เริ่มจะพังกันไปทีละคันสองคัน รถสองคันของทีม British Maranello Concessionaires ออกจากการแข่งขันไปในตอนค่ำ แต่นั่นเป็นเพียงการเปิดฉากความเปราะบางที่สามารถทำลายความพยายามของทีมโรงงานได้อย่างราบคาบเท่านั้น มันอาจจะฟังดูตลกที่ชัยชนะที่ Le Mans ของทีมโรงงานของ Ferrari นั้นถูกขัดขวางด้วยจานดิสก์เบรกที่ใช้การไม่ได้ เพราะจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อนนั้นเริ่มจะร้าวและแตกเป็นชิ้น ๆ
รถทั้งสามคันจากทีมโรงานกับ P2 จากทีม NART ได้รับผลกระทบ และนำไปสู่มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการออกคำสั่งให้นักขับทุกคนใช้เบรกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งลำบากใช่ย่อยเมื่อปลายสุดทางตรง Mulsanne นั้น ต้องเบรกจาก 200 ไมล์ต่อชั่วโมง ลงมาเหลือแค่ 40 ในขณะที่ทีมช่างสำรองถูกส่งออกไปควานหาอะไหล่จานเบรก รวมถึงถอดจานเบรกใช้แล้วจากรถที่ออกจากการแข่งขันไปก่อนหน้าเพื่อเอามาใส่รถที่ยังอยู่รอดในสนาม
แต่นั่นก็ไม่เป็นผล เพราะแม้ว่าปัญหาเบรกจะพอจัดการได้แล้ว แต่รถต้องถูกขับเร็วขึ้นเพื่อชดเชยกับเวลาที่เสียไปและสร้างความเสียหายให้กับระบบส่งกำลัง เพราะคนขับต้องใช้เกียร์มาช่วยชะลอรถเพื่อรักษาจานเบรกเอาไว้ ปัญหาจากเกียร์ทำให้ P2 ของทีมโรงงานที่วิ่งได้เร็วต้องออกจากการแข่งขัน ส่วนคันที่สามก็ตามออกไปด้วยปัญหาที่เครื่องยนต์ สุดท้ายแล้วรถแข่งคลาสโปรโตไทพ์ทั้ง Ford กับ Ferrari จำนวน 11 คัน จึงมีแค่คันเดียวที่เข้าเส้นชัย และนั่นคือ P2 จากทีม NART ที่ผ่านเส้นชัยในอันดับที่เจ็ด ตามหลังผู้นำไกลอย่างไม่น่าเชื่ออยู่ถึง 28 รอบ
การแข่งเพิ่งจะเสร็จไปเพียงครึ่งเดียวและการแข่งรอบใหม่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ระหว่างนั้นมีการสลับตัวคนขับ NART LM เกิดขึ้นซึ่งเราทุกคนอยากรู้ บันทึกทางการบอกไว้ว่านักขับของมันคือ Rindt และ Gregory ซึ่งก็ไม่ได้ผิดแต่ไม่ถูกไปหมดซะทีเดียว มีการอ้างว่า Gregory ผู้ซึ่งสายตาสั้นวกกลับเข้ามาในพิทช่วงหลังเที่ยงคืนแบบที่ไม่มีใครคาดคิด พร้อมกับบ่นอุบเรื่องที่เขามองทางไม่เห็น ส่วนคนที่ขึ้นไปขับแทนกลับไม่ใช่ Rindt แต่เป็น Ed Hugus ซึ่งเหตุผลที่ Rindt ไม่พร้อมนั้นก็ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน บางคนบอกว่าเขาไปงีบหลับอยู่ที่ไหนสักแห่งเพราะไม่ได้คิดว่าจะได้ขับในช่วงนั้น แต่ถ้าเป็น Hugus เขาก็ต้องขับกะของเขาอย่างดีจริง ๆ เพราะ Ferrari ยังอยู่ในการไล่ล่าอยู่ได้
แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเถียงกันไม่จบ Hugus เป็นคนที่ออกมาเคลมเองกับเรื่องนี้ เขาเป็นคนดีและเป็นนักขับ NART มานาน ซึ่งทำให้มีคนที่เก่งฉกาจกว่าเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน นอกจากนั้นในหนังสือรถยนต์ฉบับคัมภีร์อย่าง Time and Two Seats Janos Wimpffen ก็บันทึกเอาไว้ว่า Hugus เป็นคนขับจริงๆ ฐานข้อมูลรายการแข่ง World Sports Racing Prototypesก็มีรายชื่อนักขับทั้งสามคนบันทึกเอาไว้แต่ในอีกฟากนึง Doug Nye เพื่อนนักเขียนของเราที่ ENZO ซึ่งน่าจะเป็นผู้รอบรู้ประวัติการแข่งของ Ferrari เป็นอันดับต้น ๆ แล้ว ก็บอกว่าเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนั่นมัน‘ไร้สาระสิ้นดี เพราะคนพวกนั้นเพิ่งจะมาพูดเอาตอนหลังที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วตั้งหลายปี แต่ถลำลึกจนกู่ไม่กลับ Coco นายใหญ่ของ NART ซึ่งเป็นลูกชาย Luigi Chinetti ที่อยู่ในสนามแข่งวันนั้นก็เห็นด้วยกับเรา เพียงแต่เขายังไม่กล้าตัดตัวคำตอบอื่น ๆ ทิ้งไปก็เท่านั้น หลังจากครึ่งทศวรรษเขาก็ออกมาบอกว่า “เขาอาจจะเป็นคนขับจริงก็ได้ แต่ผมว่าโอกาสมันน้อยมาก”
ไม่ว่าใครก็ตามที่ขับ NART LM ในช่วงรุ่งสาง เขาก็ทำให้มันกลับขึ้นมาวิ่งอยู่ในอันดับสองได้ และหลังจากที่ Rindt กลับมาอยู่หลังพวงมาลัยอีกครั้งมันก็วิ่งเร็วกว่ารถแข่งสีเหลืองจากทีมส่วนตัว Belgian LM ที่ Pierre Dumay และ Gustave Gosselin เป็นคนขับอีกมากโขมันเป็นการปะทะกันระหว่างนักขับมืออาชีพกับนักขับมือสมัครเล่นที่มาพร้อมพรสวรรค์ ปัญหาเดียวก็คือ ฝูง NART นั้นวิ่งตามผู้นำอยู่ถึงสองรอบ
แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดยั้งRindt หรือ Gregory ที่ไล่กวดผู้นำเข้ามาเรื่อยๆ ได้รอบแล้วรอบเล่าจนมันเริ่มชัดเจนว่า Le Mans กำลังจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นที่สุดเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีรถเหลือวิ่งอยูแค่ 14 จาก 51 คันที่ลงแข่งเท่านั้น
แต่เรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อนก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะตอนนี้ถึงเวลาที่มือมืดจะเผยตัวออกมาเป็นครั้งแรกแล้ว ถ้าคุณคิดว่าการเมืองในผู้ผลิตยางเป็นเหตุการณ์ในการแข่งสมัยใหม่ล่ะก็ ผมเกรงว่าผมจะต้องพูดความจริงให้คุณได้รู้กันซะแล้วในตอนนี้ ปัญหาก็คือทีม Scuderia Ferrari มีสัญญาอยู่กับ Dunlop ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกับทีม Belgian LM ส่วนทีม NART นั้นใช้ Goodyear
ดูเหมือนว่าตัวแทนจาก Dunlop จะแวะไปเจอ Luigi Chinetti และเพื่อทำให้เรื่องราวน่าสนใจขึ้นไปอีก เขายังเป็นตัวแทนนำเข้า Ferrari แต่เพียงผู้เดียวในตลาดหลักๆ เป็นแชมป์ Le Mans สามสมัย และเป็นคนแรกที่ชนะใน Ferrari อีกด้วยในบทสัมภาษณ์ Coco Chinetti โดย Doug Nye พ่อของเขาถูกขอให้ปล่อยให้ Belgian LM ชนะ และถึงแม้เขาจะอยากให้มันเป็นเช่นนั้น แต่มันก็น่าสงสัยว่าเขาจะโน้มน้าว Rindt กับ Gregory ให้มาล้มการแข่งขันหลังจากที่เฆี่ยนรถมาทั้งวันทั้งคืนได้สำเร็จหรือเพราะพ่อของเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย
ในช่วงนึงชัยชนะก็ดูราวกับว่าถูกกำหนดไว้แล้ว ความเร็วของรถ NART สามารถไล่แซงคู่แข่งได้ทันก่อนตีธงหมากรุกได้แน่นอน แต่นั่นก็จะทำให้พวกเขาต้องหยุดที่พิทเป็นเวลานานก่อนถึงเส้นชัยด้วย ทีม NART มั่นใจว่านักขับของพวกเขาต้องทำได้ พอ ๆ กับที่ทีม Belgian มั่นใจว่าพวกนั้นทำไม่ได้แน่ ๆ
น่าเสียดายที่เราไม่เคยได้รู้ผลลัพธ์ สามชั่วโมงก่อนถึงธงหมากรุกตอนกำลังเร่งเครื่องเต็มที่บนทางตรงที่ 190 ไมล์/ชั่วโมง ยาง Dunlop ของรถทีม Belgian LM ก็เกิดระเบิดขึ้น Gosselin คุม Ferrari ของเขาไม่ให้กลายเป็นเครื่องร่อนเพดานบินต่ำได้อย่างน่าทึ่ง แต่ยางที่ระเบิดได้ทิ้งความเสียหายไว้กับล้อหลังและท้ายรถอย่างหนัก ซึ่งกว่าจะซ่อมเสร็จมันก็หมดหวังคว้าแชมป์แล้ว
บันทึกบอกไว้ว่าทีม NART LM ชนะรถคันอื่นไปถึง 5 รอบสนาม ซึ่งแปลได้ว่าพวกเขาชนะไปอย่างหมู ๆ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะ Masten Gregory และ Jochen Rindt ตัดสินใจขับ LM แบบใส่ไม่ยั้งโดยไม่สนใจว่ามันจะพังหรือเปล่านั้น พวกเขาก็คงไม่มีโอกาสได้กดดันทีม Belgian LM อย่างหนักหนาสาหัสในรอบท้ายๆ ของการแข่งขัน Ferrari อาจจะไม่ชอบตอนจบของเรื่องนี้เท่าไหร่นัก แต่มันก็นับว่าเป็นชัยชนะที่ใสสะอาดได้ และมันยังเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายที่ Le Mans ของทีมม้าลำพองอีกด้วย คุณคงจะพอเดาได้ใช่ไหมล่ะว่า สองนิ้วที่ Gregory ยกขึ้นมาตะเบ๊ะตอนอยู่บนโพเดียมนั้นจะถูกชี้ไปที่ใคร
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น