BACK  TO BASIC WITH 308 GTB กับ คุณหนู-ชญานิน เทพาคำ

                ความฝันที่อยากได้ยินเสียงเครื่องยนต์ V8 คาร์บูเรเตอร์ ในแบบออริจินอลเหมือนตอนที่มันออกมาใหม่ ๆ เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ คุณหนู-ชญานิน เทพาคำ ต้องการ และวันนี้เขาทำมันเสร็จสมบูรณ์แล้ว

CHILD’S PASSION

“ผมเป็นคนชอบอะไรที่มีล้อมาตั้งแต่เด็ก และในสมัยนั้นเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ต้องตามเสด็จตลอด เราก็เลยต้องอยู่บ้านคนเดียวซะเป็นส่วนใหญ่ จะหยิบจับของเล่นอะไรมาเล่นก็ไม่ค่อยมี มองซ้ายมองขวาในบ้านก็มีรถ FIAT เก่า ๆ อยู่คันหนึ่งที่เขาเอาไว้ใช้ซื้อของ เวลาช่างเขามาซ่อมอะไรกับรถคันนั้น เราก็จะไปคลุกคลีกับเขาตั้งแต่อายุ 12-13 คือเขาทำอะไรเราก็ไปเล่นอยู่กับเขา ด้วยความที่เราทำรถเองตั้งแต่เด็ก เลยกลายเป็นความผูกพันระหว่างผมกับรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก” คุณหนูกำลังพูดถึงอดีตที่เริ่มจับประแจมาตั้งแต่เด็ก ทำให้กลายเป็นคนที่ชอบซ่อมแซมชอบแก้ปัญหา และนี่คงเป็นจุดเริ่มต้นที่หลอมรวมคุณหนูกับรถยนต์เข้าไว้ด้วยกันก่อนจะก้าวสู่ความท้าทายในวงการมอเตอร์สปอร์ตของประเทศไทย

“ธุรกิจของทางครอบครัวผมให้การสนับสนุนการแข่งขันรถยนต์ทั้งทางเรียบและทางฝุ่นมาตลอด พอโตขึ้นมาหน่อย ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปเล่นทางฝุ่นกันอยู่พักใหญ่ในนามทีมสิงห์ แต่ว่าสมัยก่อนเราเรียนอยู่ต่างประเทศ เลยไม่ได้ทำการแข่งขันทั้งปี คือในช่วงปิดเทอมกลับมาตรงกับช่วงการแข่งขันสนามไหน เราก็ไปมันหมด ทั้งทางเรียบ ทางฝุ่น แล้วแต่ว่าจะตรงกับรายการไหน”

“พอจบการศึกษากลับมา ผมก็หักเหนิดหนึ่งไปสนใจสองล้อ จนกระทั่งผมและรุ่นพี่อีกสองคนรวมตัวกันเปิดบริษัทที่ชื่อว่า G-Force ซึ่งถ้าคนยุค 90’s จะรู้จักกันดีในฐานะตัวแทนนำเข้าพร้อมศูนย์บริการ Harley-Davidson แห่งแรกในประเทศไทย และในอดีตชมรมต่าง ๆ มีไม่เยอะ พวกผม 5-6 คนก็เป็นรุ่นบุกเบิกในการตั้งชมรมขึ้นมาในชื่อ IMMORTALS โดยผมก็เป็นประธานคนที่ 2 ต่อจาก คุณพิมล ศรีวิกรม์”

“ตอนเราเปิดร้านกันที่สยามเซ็นเตอร์ ในตอนนั้นก็เชิญพรรคพวกจากมาเลเซียและสิงคโปร์ขึ้นมาร่วมงาน ซึ่งพวกผมก็ขี่รถ Harley-Davison ไปรับพวกเขาที่ด่านสะเดา แล้วขี่ขึ้นมาเปิดงาน พอวันรุ่งขึ้นก็ขี่กลับไปส่งเขาที่ด่าน ซึ่งในสมัยนั้นเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ ระหว่างทางเราก็กางแผนที่แล้วดูเลยว่าระยะทางระหว่างกรุงเทพ-สิงคโปร์เนี่ย มันทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วเอาไม้บรรทัดวัดเลยว่าครึ่งทางมันอยู่ตรงไหน ซึ่งมันอยู่ประมาณภูเก็ต เราเลยคุยกันว่าโอเคปีหน้าเราจะมาเจอกันที่ภูเก็ตละกันนะ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Phuket Bike Week ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ผมได้ไปใช้เวลาไปกับสิ่งที่ผมชอบ ตอนนั้นรถยนต์แทบไม่ได้แตะเลย ก็ไปคลุกอยู่กับมอเตอร์ไซค์ และด้วยความที่เราทำ Harley เราก็ชอบออกทริป ขี่ไปแทบทุกจังหวัด ช่วงนั้นผมใช้ชีวิตแบบเต็มที่มาก แม่ฮ่องสอน 1000 กว่าโค้งผมก็ไป” ถึงตรงนี้เรื่องราวยิ่งเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อได้ทราบว่าคุณหนูคือผู้บุกเบิกชมรม Harley ชื่อดังอย่าง “IMMORTALS” ที่ปัจจุบันก็ยังคงยิ่งใหญ่และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และจากเรื่องราวข้างต้นพอให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นผู้ที่ชอบความท้าทาย และทำอะไรจริงจังอย่างเต็มที่กับสิ่งที่ชอบ

FIRST FERRARI

จนกระทั่งคุณหนูเริ่มกลับมาจับพวงมาลัยอีกครั้งในปี 2000 เมื่อเริ่มเข้าสู่บริษัทบุญรอดฯ และทำการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแบบเต็มที่ตลอดทั้งปี ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ความผูกพันของคุณหนูกับรถยนต์ถูกสานต่ออีกครั้งในสนามประลองความเร็วต่าง ๆ จนสุดท้ายความชื่นชอบในกีฬาความเร็วก็นำพาให้คุณหนูต้องผูกพันกับรถ FERRARI อย่างเต็มตัว

“ผมไม่เคยมีรถ FERRARI มาก่อน แต่ก็รู้จักและติดตามมาโดยตลอด จนกระทั่งคุณจ๊ะ วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี ได้ช่วยหารถและคอยให้คำแนะนำ เป็นที่มาของ FERRARI คันแรกในชีวิตเลยคือ 430 scuderia ก่อนจะเปลี่ยนเป็น 355 แล้วก็มาเป็น 348 GTC (GTcompetizione) คันนี้พิเศษหน่อย ตรงที่มันมีแค่ 50 คันในโลก และเป็น 1 ใน 8 คันที่เป็นพวงมาลัยขวา มันเป็นรถ 348 ท้ายรุ่นที่ออกมาพร้อมกับ 355 เลย แต่มีเครื่องยนต์ที่แรงขึ้น มีช่วงล่างที่ปรับปรุงใหม่หมด ภายในเป็นเบาะบักเก็ทซีท ซึ่งคันนี้เป็นรถที่ผมเห็นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาในเมืองไทยเลย แล้วผมก็สามารถไปตามกลับมาได้”

RETRO LOVER

“ผมเล่นรถแปลกกว่าคนทั่วไป คือผมเริ่มจากรุ่นใหม่ ๆ แล้วค่อย ๆ ไล่ปีลึกลงไป โดยหลังจากผมมี 348 GTC คันนั้นแล้ว คราวนี้ก็พยายามที่จะหารถปีลึกลงไปอีก ตอนแรกก็มอง 328 ไว้อยู่เหมือนกัน แต่คิดไปคิดมาด้วยความที่ผมเล่นรถมาทางสายเครื่อง V8  ในตอนนั้นก็เลยคุยกับคุณบูม ประธาน FOCT ว่าผมอยากได้รถ FERRARI V8 คันแรก ทางคุณบูมก็ช่วยแนะนำ และประสานกับเพื่อนรักของเขา จนในที่สุดผมก็ได้รถคันนี้มาครอง”

ในขณะที่ผู้คนส่วนมากในสังคม FERRARI ให้ความสำคัญกับเครื่อง V12 มาโดยตลอด แต่คุณหนูกลับมองเห็นเสน่ห์ของเครื่องยนต์ V8 ตัวแรก ที่ประจำอยู่ใน 308 นับตั้งแต่มันถูกเปิดเผยสู่สายตาสาธารณะชนใน Paris Motor Show 1975 จนกลายเป็นหนึ่งในรถยนต์ที่เป็นที่รู้จักและมีเอกลักษณ์มากที่สุด

 รถ 308 จะถูกแบ่งออกเป็น 2 รุ่นหลัก ๆ คือ  “GTB ที่เป็นหลังคาแข็ง” และ “GTS ที่เป็นหลังคาเปิดได้” ซึ่งทั้งสองรุ่นจะใช้เครื่องยนต์ V8 2.9 ลิตร ( แม้ว่าป้ายรุ่นจะพยายามหมายถึง 3.0 ลิตร แต่ความจุจริงอยู่ที่ 2927 cc. ) โหด ดิบ ด้วยคาร์บูเรเตอร์ WEBER 4 ตัว ก่อนที่จะมาเป็น 308GTBi และ 308GTSi ในปี 1980 ที่พัฒนาการจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ และในขณะที่ทั้งหมดนั้นใช้เครื่องยนต์แบบ 2 วาล์วต่อสูบ มันก็ถูกแก้ไขฝาสูบครั้งใหญ่ในปี 1982 จนได้ผลผลิตออกมาเป็น 308 Quattrovalvo ที่เป็นเครื่องยนต์ 4 วาล์วต่อสูบ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น 328 ที่ขยายความจุจาก 2.9 ลิตร เป็น 3.2 ลิตร

รถคันนี้คือ 308 GTB ปี 1980 เป็นรถ 308 คาร์บูเรเตอร์รุ่นสุดท้ายที่เปลี่ยนมาใช้ตัวถังเป็นเหล็กแทนไฟเบอร์กลาส ก่อนจะเปลี่ยนเป็น GTBi ที่ใช้เครื่องยนต์หัวฉีด มีความพิเศษอีกอย่างตรงที่มันเป็น Euro Spec โดยจะเป็นเครื่องยนต์ 255 แรงม้า (มากกว่า US Spec อยู่ 15 ตัว) มาพร้อมระบบการไหลเวียนของน้ำมันเครื่องแบบ Dry Sump  ในขณะที่รุ่นหลัง ๆ จะเป็น Wet Sump

ENJOY A HOBBY

“วันนั้นผมอยากรู้ว่า 308 GTB ที่ออกมาใหม่ ๆ จากโรงงาน มันให้ฟีลลิ่งการขับยังไง ผมเลยจะย้อนกลับไปให้เหมือนโรงงานมากที่สุด ไม่เว้นแม้กระทั่งเสียงจากชุดท่อไอเสีย” คุณหนูเล่าให้ฟังถึงโปรเจ็คต์นี้ ที่ถูกวางแนวทางไว้ตั้งแต่แรก ก่อนจะเริ่มทำการฟื้นฟูสภาพให้กลับไปเหมือนตอนป้ายแดงอีกครั้ง

“รถคันนี้ผมรื้อมันจนเหลือแต่ซับเฟรมกับเปลือกที่เป็นเหล็กแล้วดูทุกจุด ด้วยความที่อายุมากแล้วก็มีอะไรที่ชำรุดไปบ้าง ในบางจุดเขาสวยด้วยสีโป๊ว คือบอดี้มีการเฉี่ยวมาบ้าง ผมถือเป็นเรื่องปกติกับรถอายุขนาดนี้ แต่แชสซีมันยังดี ผมก็จัดทรงมันใหม่ทั้งหมดโดยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จากที่เคยสวยด้วยสีโป๊ว แต่ตอนนี้มันสวยด้วยเลเซอร์ ผมใช้เวลาทำรถคันนี้กับทีมงานในเวิร์คช๊อปที่นี่ 4-5 ปี บางครั้งตอนกลางวันที่ว่างจากการทำงานผมก็แวะมาฝากงานให้ทีมงานทำ โดยผมจะเป็นคนบอกว่าทำยังไง เอาอันนี้ไปทำที่นู่นที่นี่นะ แล้วตอนเย็นผมจะกลับมาประกอบมัน คือผมต้องมีส่วนร่วมกับมันในทุกขั้นตอน ถ้าผมถอดคนอื่นประกอบได้ แต่ถ้าคนอื่นถอดผมต้องประกอบเอง”

“เครื่องยนต์ผมรื้อมันออกมาทำทุกจุดและศึกษากลไกมันอย่างละเอียด อย่างในคาร์บูเรเตอร์ที่มีช่องทางเดินเล็ก ๆ สำหรับน้ำมันกับอากาศ ซึ่งเราทำความสะอาดมันไม่ได้มากนัก แล้วถ้าการหาซื้อคาร์บูเรเตอร์ใหม่มันง่าย ผมก็คงซื้อไปแล้ว แต่ทีนี้มันหาไม่ได้ ผมก็ซื้อหม้อต้มระบบอัลตร้าโซนิกที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปสั่นสะเทือนสิ่งสกปรกที่มันเกาะอุดตันอยู่ตามช่องต่าง จากนั้นก็โอเวอร์ฮอลล์มันทั้งหมด รวมถึงการวัดความกลมของกระบอกสูบ เพราะเครื่องรุ่นนี้ถ้าไปอยู่ในคนที่เท้าหนัก ประเภทติดเครื่องแล้วเร่งเลยส่วนใหญ่ลูกสูบจะเบียดกระบอกสูบด้านข้างทำให้มันรับแรงอยู่มุมเดียว ส่งผลให้กระบอกสูบมันไม่กลม แต่คันนี้ยังอยู่ในสภาพที่ดีเพราะรถคันนี้ก็มีประวัติที่วนเวียนเปลี่ยนมือกันอยู่กับคนในวงการคนเล่นรถนี่แหล่ะ”

 “ผมเป็นคนทำรถ ผมเห็นนอตทุกตัวที่อยู่ในรถคันนี้ ความสุขของผมมันอยู่ที่การได้ลงมือทำ และถ้าผมซื้อรถใหม่มาในตอนนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เขาเยอะ ผมทำอะไรเขาไม่ได้เลย คือผมซื้อมาแล้วผมขับได้อย่างเดียว ผมเล่นรถเพื่อที่ผมจะรู้จักกับมันจริงๆ เพราะฉะนั้นผมจะไม่กลัวการที่จะขับรถเก่าไปแล้วมันจะไปเสียที่ไหน เพราะผมมั่นใจว่าผมจะสามารถเอารถกลับได้ แล้วนิสัยผมอีกอย่างคือ ถ้ารถมันดีแล้วผมจะไม่ค่อยขับมัน แต่ถ้าระหว่างทำมันยังจุกจิก มันยังมีปัญหา ผมจะยิ่งใช้มัน จนมันดี แล้วผมถึงจะไปหาโปรเจ็กท์อื่นทำ”

BACK TO BASIC

จุดที่ยากที่สุดของการบูรณะรถคันนี้อยู่ที่การเน้น Original Part ในทุกจุด รวมถึง นอต สกรู โบลท์ ทั้งหมดทุกตัว ซึ่งโชคดีที่ว่าในเมืองไทยมี Cavallino Motors ที่มีเครือข่ายของผู้แทนจำหน่ายทั่วโลกอยู่ ซึ่งเขาจะมีระบบการจัดการที่สามารถเช็คได้ว่ามีอะไหล่ชิ้นไหนอยู่ที่ส่วนไหนของโลก ทำให้สามารถตามหาอะไหล่หลายชิ้นที่ชำรุดไปตามกาลเวลา แต่บางอย่างที่หายากมาก ๆ  ก็ต้องใช้เวลาเสาะหามันจากทั่วทุกมุมโลก และด้วยความที่คุณหนูเล่นลึกลงไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ได้ไปคลุกคลีอยู่กับวงการ Restoration Ferrari Classic ทางฝั่งอเมริกา

“การเล่นรถโบราณ ผมจะ appreciate กับของเดิมมาก ถ้าให้เลือกเก่าแท้ กับใหม่รีโปรฯ ผมเลือกเก่านะ ผมว่ามันดูขลัง และต้องเข้าใจว่าก่อนที่รถโบราณมันจะได้รับความนิยมเนี่ย มันจะต้องผ่านช่วง ๆ หนึ่งที่ศูนย์บริการเค้าจะไม่เก็บอะไหล่พวกนี้แล้ว แล้วก็จะขายออกไป ซึ่งก็จะมีอะไหล่แท้จำนวนหนึ่งไปอยู่กับคนที่เก็บมันตามวงจรธุรกิจ ซึ่งต้องหาคนคนนี้ให้เจอ”

“ความโชคดีของผมคือ การใช้เวลาในตอนกลางคืนหาข้อมูลต่าง ๆ จากอินเทอร์เน็ต ทำให้เรารู้จักผู้คนมากขึ้น และบังเอิญว่า 308 ที่อเมริกาเขาเล่นค่อนข้างเยอะ พอเริ่มเล่นไปลึก ๆ ก็บังเอิญได้คุยกับชาวอเมริกาท่านหนึ่ง ชื่อ Ted Rutland ที่เกิดอีเมลล์คุยกันแล้วถูกคอ เขาเป็นเจ้าของร้านขายอะไหล่ T.Rutland ที่ใหญ่มาก เขามีอะไหล่เก็บไว้เยอะ เราคุยกันบ่อยครั้งจนสนิทกัน คุณ Ted ก็ได้ช่วยผมหาของจากเพื่อนฝูงของเขา ของบางชิ้นมันมาจากที่ ๆ มันไม่น่ามี อย่างท่อไอเสียเขาก็ช่วยหาของ New Old Stock มาให้จาก HAWAII  บางชิ้นมาจากเกาะกวม มันน่าไปอยู่มั้ยหล่ะ? เราก็ติดต่อกันมาเรื่อย ๆ จนหลัง ๆ เขาเริ่มตอบเราช้าบ้าง บางครั้งก็ขาดการติดต่อไปบ้าง กระทั่งผมพบว่าเว็บไซต์รถคลาสสิกต่าง ๆ ในอเมริกาต่างขึ้นไว้อาลัยให้กับ Ted Rutland ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลด้าน Restoration โดยที่ผมก็ตกใจว่าผมไม่รู้เลยว่าเค้าป่วย เขาเป็นทั้ง Ferrari Collecter และเป็น Ferrari Restorer ในตัวเขาเอง เป็นที่น่าเสียใจที่คุณ Ted เสียชีวิตก่อนที่รถคันนี้จะเสร็จ ก็เป็นความทรงจำดี ๆ ที่รถคันนี้มีคุณ Ted เข้ามาช่วย”

CLASSIC LIFE

เมื่อพูดถึงความประทับใจหลังจากที่ 308 คันนี้สำเร็จตามความคาดหมาย มันมีอะไรที่มากกว่าการเป็นรถคลาสสิก   “สมัยก่อนผมจำได้ว่ารถที่วิ่ง 150 ได้นี่ก็หล่อมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ผมขับรถ 150 หน้าครอบครัวก็ลอยมาแล้ว ดังนั้นถ้าวันนี้ผมขับ 488 ก็คงใช้ได้ไม่ถึงครึ่งประสิทธิภาพของมันเลย แต่ถ้าเป็น 308 นี่ผมใช้มันเกือบเต็มคันเร่งแล้วนะ ผมสามารถเข้าใกล้ลิมิตมันได้มากกว่า การที่ผมเล่น ผมรู้จักมัน ผมซ่อมมันได้ ผมขับไปไหนก็มีแต่คนยิ้มให้ มีแต่คนให้ทางไปก่อน เขาไม่ได้มองว่าผมขับรถสปอร์ต เขาไม่ได้มองว่าผมขับซูเปอร์คาร์ มันยิ่งทำให้ผมสนุกกับรถคลาสสิกเรื่อย ๆ”

“ผมไม่ได้ทำมันออกมาจนสวยแล้วจอดนะ แต่ผมขับใช้งานมันจริง ๆ หลังจากทำคันนี้เสร็จ ก็พอดีว่าลูกสาวมีแข่งสเก็ตที่เชียงใหม่ ผมก็เอารถคันนี้ขึ้นไปกับครอบครัว ไปขับชิลล์บนเขา ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ทุกวันนี้ก็ยังขับเข้าเมืองในทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งก็ทำใจก่อนนะ ว่ารถที่เราตั้งใจทำมาดีมาก ๆ อยู่ดี ๆ วันหนึ่งเขามีปัญหา ก็เพราะอายุเขาเยอะ มันอาจจะมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นกับเราได้ตลอด แต่ผมมั่นใจว่าผมสามารถเอารถกลับได้”

ENZO PROUD

“โลกมันเปลี่ยน เราเคยได้แต่มองนิตยสารแบบนี้ที่ต่างประเทศ ซึ่งจริง ๆ มันมีเรื่องราว มันมีองค์ความรู้อะไรมากมายที่น่าสนใจมากมายในประเทศไทย การที่มีนิตยสาร ENZO ฉบับภาษาไทย มันเป็นการเปิดให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าเมืองไทยมีอะไร เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยคนหนึ่งที่มองว่าเราทำได้ เราก็มีดี แล้วถามว่าการ RESTORE รถคันหนึ่งแบบนี้ เราเป็นรองต่างชาติหรือ?” คุณหนูกล่าวทิ้งท้ายถึงความภาคภูมิใจในฐานะคนเล่นรถคนหนึ่ง ที่ศึกษาและลงมือทำกับรถคันโปรดอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการของคนฝีมือคนไทยผ่าน ENZO Magazine

CODE

“วันนั้นผมอยากรู้ว่า 308 GTB ที่ออกมาใหม่ ๆ จากโรงงาน มันให้ฟีลลิ่งการขับยังไง ผมเลยจะย้อนกลับไปให้เหมือนโรงงานมากที่สุด ไม่เว้นแม้กระทั่งเสียงจากชุดท่อไอเสีย”

ใส่ความเห็น