การปรับแต่งเพียงเล็กน้อยจากโรงงาน FERRARI ทำให้ 488 ที่เพอร์เฟ็กต์อยู่แล้วกลายเป็นรถแข่งที่พร้อมจะลงทำการแข่งขันในแทร็คได้อย่างสมบูรณ์
เส้นสายการออกแบบของ Flavio Manzoni ทำให้ตัวถังของ 488 สามารถลดแรงต้านและเพิ่มแรงกดได้มากกว่า 458 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และสวยหยดจนทำให้ชื่อของ FERRARI นั้นถูกเรียกท่ามกลางเวทีแข่งขันการออกแบบที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดในโลก Red Dot เพื่อคว้ารางวัล “Best of the Best” ในปี 2016 ทำให้ไม่แปลกที่มันจะได้รับความนิยมในแง่ของรถถนน แต่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมันก็ยังมีความเพียบพร้อมในหลายๆ ด้านที่ทำให้ทีมแข่ง SINGHA Motorsport Team Thailand ต้องนำเข้ามาประจำการแทนรถแข่ง 458 คันเก่าที่ตกรุ่นไป
SINGHA Motorsport Team Thailand ทีมแข่งระดับเบอร์ต้นของประเทศไทยได้นำทั้ง 488 GT3 และ 488 Challenge มาเป็นเครื่องจักรแห่งการต่อสู้ในโลกมอเตอร์สปอร์ตประเทศไทยปีนี้เป็นปีที่สอง ซึ่งเอาเข้าจริงโอกาสของการได้เห็นเครื่องเคราภายใต้ตัวถังนั้นรถพวกนี้ไม่ได้มีบ่อยนัก เว้นแต่คุณมีสายคล้องคอซูเปอร์วีไอพี ที่อนุญาติให้คุณเดินอยู่ในพิทของสนามแข่งที่ไหนสักแห่งที่เจ้ารถพวกนี้วิ่งอยู่ แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสทองของช่วงปิดฤดูกาลการแข่งขันสำหรับปี 2019 ที่ทำให้เราได้มีโอกาสมาเก็บภาพเพื่อให้เห็นถึงเทคโนโลยีและความพิเศษของรถแข่ง 488 ของทีม SINGHA Motorsport Team Thailand
ก่อนอื่นเราขอเท้าความถึงความเป็นมาของรถแข่งสองคันนี้กับ คุณจ๊ะ–วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี ถึงอีกบทบาทหนึ่งนอกเหนือจากจากการดำรงตำแหน่งผู้บริหารในเครือของบริษัทบุญรอดฯ ในฐานะของนักแข่งและหัวเรือใหญ่ของ SINGHA Motorsport Team Thailand “ส่วนหนึ่งเรามีใจรักในการแข่งรถอยู่แล้ว และมีธุรกิจที่สนับสนุนวงการมอเตอร์สปอร์ตมาตลอด ก็เริ่มแข่งรถมาตั้งแต่ปี 2000 พอแข่งไปก็เริ่มสนุกกับมัน ก็ขยับเป็นรุ่นโมดิฟายที่ความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็หันมาให้ความสนใจกับรถทัวร์ริ่งคาร์อยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็มีจุดพลิกผันให้ตัวเองมาเป็นอิมพอร์ทเตอร์รถ FERRARI ในปี 2009 เราก็เห็นช่องทางที่จะเอารถ FERRARI มาสร้างสีสันให้คนได้เห็นรถแบบนี้วิ่งในสนามแข่งบ้านเราบ้าง พอปี 2013 มีรายการแข่งที่เปิดให้เอารถซูเปอร์คาร์มาวิ่ง ผมก็เลยเอา 458 Challenge มาลงแข่งและก็ได้เป็นแชมป์ประเทศไทยตอนปี 2014 และก็จริงจังเพิ่มขึ้นมาตลอด โดย 488 สองคันนี้เดิมทีเป็นรถแข่งจากรายการ Asian Lemans Series แล้วเราก็ติดต่อขอซื้อมาเพื่อใช้แข่งแทน 458 เพื่อใช้แข่งในประเทศ จนปัจจุบันทางทีมก็เปลี่ยนมาลงแข่งด้วย 488 ปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว” เขากำลังเล่าถึงการเดินทางของรถ FERRARI บนเส้นทางสายมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย ด้วยแววตาที่เราสัมผัสได้ว่าไม่ใช่เพราะเขามีอีกธุรกิจในการเป็นตัวแทนจำหน่าย FERRARI อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยอย่าง Cavallino Motors แต่เพราะมองเห็นช่องทางที่เขาจะนำขุนพลม้าลำพองที่ตนเองรักอยู่แล้วมาสนุกกับมอเตอร์สปอร์ตที่เขาชื่นชอบอีกด้วย เรามองว่านี่คืออีกหนึ่งวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเขามากกว่า
488 Challenge
โครงการ FERRARI Challenge ถูกริเริ่มในปี 1993 สำหรับเจ้าของ 348 Berlinetta ที่เสี้ยนคันเร่งในสนาม หลังจากนั้น 25 ปี ก็มีการเฉลิมฉลองการครบรอบเป็นเจ้า 488 Challenge นี่แหล่ะ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็เหมือนเอารถถนน 488 มาแต่งองค์ทรงเครื่องให้เป็นรถแข่งประเภท One Make Championship โดยทั้งหมดผลิตจาก Corse Clienti ซึ่งเป็นแผนกเฉพาะที่ทำรถเพื่อการแข่งขันเท่านั้น
รูปลักษณ์ภายนอกของ 488 Challenge มีช่องอากาศของกันชนหน้าที่แบ่งช่องอย่างชัดเจนเพื่อบังคับทิศทางอากาศไปช่วยระบายความร้อนให้กับหม้อน้ำที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมระบายขึ้นไปออกทางช่องอากาศบนฝากระโปรง และได้สปอยเลอร์ท้ายจากตัวแข่ง 488 GTE มาช่วยสร้างแรงกดในด้านท้ายตอนความเร็วสูง ความพิเศษอยู่ตรงน้ำหนักรวมของรถที่ลดลงไปจากแผ่นตัวถังที่บางลง และวัสดุตัวถังบางชิ้นที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ กระจกหน้าต่างทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยโพลีคาร์บอเนต พร้อมเสริมโรลเคจและอุปกรณ์ความปลอดภัยตามกติกาสากล เพื่อให้เหมาะสมกับการวิ่งในแทร็ค โดยทุกคันก็จะถูกทำแบบนี้เหมือนกันหมดและวัดกันด้วยฝีมือคนขับล้วนๆ ด้านเครื่องยนต์ก็ยังคงใช้เครื่องยนต์ 3.9 ลิตร V8 ทวินเทอร์โบชาร์จ 670 แรงม้า เหมือนกับ 488 GTB รุ่นปกติที่เราคุ้นตาเป็นอย่างดี
488 GT3
สำหรับ 488 GT3 เป็นรถแข่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวิ่งในรายการแข่งขัน GT Class ก็จะเพิ่มดีกรีความดุดันขึ้นมาอีกด้วยการพัฒนาต่อยอดมาจากรถแข่ง GT2 ชิ้นส่วนเปลือกนอกของบอดี้นี้จะเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งคัน ที่นิยมนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายในวงการมอเตอร์สปอร์ต และมันมาพร้อมกับการจัดการในเรื่องของแอโร่ไดนามิกส์ที่ดีขึ้น กันชนหน้าใหม่ ไร้ซึ่งสปอยเลอร์ใต้กันชนแต่ถูกแทนที่ด้วยแผ่น Splitter ช่วยจัดเรียงอากาศและเพิ่มแรงกด ซุ้มล้อที่กว้างขึ้นเพื่อรองรับล้อและยางสลิคขนาดใหญ่ ทำงานคู่ครีบขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือซุ้มล้อหน้าช่วยลดแรงต้านในซุ้มล้อ ในขณะที่อากาศที่ใช้ระบายความร้อนหม้อน้ำนั้นจะถูกรีดออกไปทางด้านใต้ เพื่อกันไม่ให้อากาศร้อนไหลไปรวมกับช่องอากาศขนาดใหญ่ด้านข้างเหนือล้อหลัง ที่จะนำไประบายความร้อนให้อินเตอร์คูลเลอร์ และที่ด้านหลังก็มี Diffuser ขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาอย่างชาญฉลาด เรื่องที่น่าสนใจคือลึกลงไปในตัวถังทั้งคันของ 488 GT3 มันถูกออกแบบมาด้วยโครงสร้างใหม่แบบสเปซเฟรม ที่ทำให้เปลือกนอกของบอดี้ที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์นั้นสามารถถอดได้ทั้งคันเป็นชิ้นๆ อย่างสะดวกและรวดเร็วเพื่อง่ายต่อการเซอร์วิส การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้มันเป็นรถแข่งที่เยี่ยมยอด โดยเฉพาะในเรื่องของแฮนด์ลิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการอันเดอร์สเตียร์หรือหน้าดื้อโค้งนั้นลดลง อย่างไรก็ตามรถ 488 GT3 มีน้ำหนักที่เบากว่ารถ Challenge ส่วนหนึ่งมาจากชุดเกียร์ที่ Challenge ใช้เป็นเกียร์สแตนดาร์ด ซึ่งมันหนักกว่าเกียร์ที่ใช้ใน GT3
สำหรับภายในห้องโดยสารทั้งสองคันจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ ถ้าคุณคิดขับมันขอให้คุณทำใจไว้เลยว่า คุณจะไม่ได้สัมผัสความนุ่มนวลและหรูหราจากเบาะหนังแท้อย่างที่ 488 GTB เคยมอบให้ เพราะมันถูกแทนที่ด้วยเบาะบักเก็ทซีทสำหรับนักแข่งเพียงตัวเดียวที่ติดตั้งแบบตายตัว พร้อมโรลเคจที่เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยสำหรับการเข้าออกเท่านั้น แป้นเหยียบที่สามารถปรับได้สำหรับนักขับที่มีสรีระต่างกัน ในขณะที่พวงมาลัยมาพร้อมกับกลไกที่ทำให้มันสามารถถอดได้อย่างรวดเร็ว ถูกประดับประดาด้วยสารพัดปุ่ม และยังมีสวิทช์ควบคุมระบบต่างๆ ที่คอนโซลกลางอีกจำนวนหนึ่ง และเนื่องจากรถประเภท GT3 คำนึงถึงนักแข่งมือสมัครเล่น จึงยังคงมีตัวช่วยจำพวก ระบบป้องกันล้อล็อก ระบบควบคุมเสถียรภาพ ที่ควบคุมและปรับแต่งได้ด้วยซอฟท์แวร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมันเหมือนการปรับโหมดจากปุ่ม manettino เพียงแต่สามารถปรับได้ละเอียดมากๆ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าปุ่มที่เยอะราวกับนั่งอยู่ภายในค็อกพิทของนักบินนั้น นักแข่งจะจดจำการใช้งานของมันได้อย่างไรหมด ต้องเรียนให้ทราบว่าในการแข่งขันนั้นนักแข่งจะนอกจากจะต้องใจจดใจจ่ออยู่กับการขับขี่ในไลน์ที่ถูกต้อง แล้วยังต้องสังเกตอาการของเครื่องยนต์ ไหนจะต้องวิทยุคุยกับทีม ไหนจะการหาจังหวะในการเร่งแซงอีกทั้งยังต้องระวังคู่แข่งที่กำลังหายใจรดต้นคอเข้ามาอีก ดังนั้นมันเป็นเรื่องยากที่จะทำทุกฟังก์ชั่นบนรถแข่งได้ทั้งหมด แม้กระทั่งนักแข่ง F1 เองก็ตาม ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาใดๆ นักแข่งยังคงต้องวิทยุถามทีมวิศวกรประจำทีมแข่งเพื่อขอข้อมูลในการแก้ไข ซึ่งเขาก็จะมีข้อมูลมากมายที่จะจะคอยซัพพอร์ทนักแข่งว่าต้องทำอะไร ดังนั้นทีมเวิร์คจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการแข่งขัน
GT3 vs Challenge
“ถ้าพูดถึงสมรรถนะเนี่ย เครื่องยนต์ของ 488 Challenge ใช้เครื่องเหมือนกับ 488 รถถนน แต่มีการอัพเกรดในเรื่องของแอโร่ไดนามิกส์ และระบบระบายความร้อนบ้างเล็กน้อย แต่มันก็มีท็อปสปีดมากกว่า 488 GT3 ที่ต้องถูกลดบูสท์ลงตามกติกา BOP. (Balance Of Performance) ซึ่งเป็นข้อบังคับในเรื่องของการถ่วงน้ำหนักและจำกัดพละกำลังของเครื่องยนต์ เพื่อให้สามารถวิ่งร่วมกับรถรุ่นอื่นในคลาสได้โดยไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก ทำให้ความแรงนั้นด้อยลงไปบ้าง แต่ 488 GT3 เนี่ยมีแรง Downforce ที่ดีกว่ามาก การเข้า–ออกโค้งไฮสปีดคอร์เนอร์สามารถทำได้ดีกว่า ฐานล้อที่กว้างกว่าและหน้ายางที่กว้างกว่าก็ยิ่งทำให้มีการยึดเกาะที่ดีขึ้นอีก รถไม่เกิดการอันเดอร์สเตียร์ก็เลี้ยวได้ง่าย เครื่องที่มีโหมดในการปรับจูนมากขึ้น ระบบระบายความร้อนดีขึ้น และอีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ 488 GT3 คือปุ่มปรับ Traction ที่แอดวานซ์ไปอีกขั้น ซึ่งนักแข่งระดับ Professional จริงๆ เขาจะไม่อยากให้ระบบ Traction เข้ามาแทรกแซงในการควบคุมมากนัก เพราะมันจะทำให้รถช้าลง ซึ่งถ้าการแข่งปกติเราก็จะปรับให้มันตัดกำลังน้อยที่สุด แต่เมื่อยางใกล้หมด หรือในวันที่เป็น Wet Race นั้นก็ต้องใช้ระบบ Traction เข้ามาช่วย โดยที่ 488 GT3 สามารถปรับได้อย่างละเอียดมาก เราจึงสามารถปรับให้มันตัดกำลังทีละน้อยๆ ได้จากปุ่มปรับ Traction บนด้านซ้ายและขวาของพวงมาลัย ทำให้ถึงแม้ 488 GT3 ทำท็อปสปีดได้น้อยกว่าแต่ก็สามารถทำเวลาต่อรอบได้เร็วกว่า”
Past To Future
“เมื่อเทียบกันกับ 458 GT3 คันก่อน แน่นอนว่าด้วยความเป็นเครื่องยนต์ N/A มันเรียกแรงม้าได้น้อยกว่า แต่ก็มีซุ่มเสียงเร้าใจ ขับสนุกในระดับหนึ่ง แต่สำหรับ 488 GT3 มันเป็นรถที่เร็วมาก อัตราทดพวงมาลัยก็เข้าใกล้ F1 เข้าไปทุกที และด้วยแอโร่ไดนามิกส์ที่สร้างแรง Downforce ได้มากกว่า ทำให้มันสามารถทำความเร็วได้เยอะกว่ามาก จากการขับแต่ก่อนที่เราชินกับ 458 ที่ต้องแตะเบรกนิดนึงแล้วเลี้ยวเข้าสู่โค้ง ก็ต้องปรับตัว เพราะพอเป็น 488 มันแทบไม่ต้องเบรกเลย แค่ยกคันเร่งนิดเดียวก็สามารถเร่งใส่เข้าไปในโค้งได้เลย แต่กลับกันถ้าเรายกคันเร่งเยอะ รถจะไม่มีแรงกดที่ล้อหน้ารถก็จะอันเดอร์เสตียร์ไปเลย คราวนี้ต้องอยู่ที่ใจของเราด้วยแล้ว เรียกว่าต้องมีความบ้าที่ต้องเร่งใส่โค้งให้มี Downforce กดลงไป ซึ่งถ้าทำจนคุ้นเคยมันจะเป็นรถที่เร็วมากจริงๆ” คุณจ๊ะเล่าให้ฟังถึงการที่ FERRARI ตัดขาดอย่างไร้เยื่อใยกับเครื่องยนต์ N/A แล้วหันมาคบกับเครื่องยนต์ตระกูลใหม่ที่พึ่งพาเทอร์โบชาร์จ ก็ทำให้อารมณ์ดิบๆ ของเครื่องยนต์ดูดอากาศด้วยตัวเองนั้นหายไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากความเร็วที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้มันเป็นอาวุธทางเรียบที่น่าเกรงขาม
IN THE RACE
สำหรับในปีการแข่งขันที่ผ่านมา SINGHA Motorsport Team Thailand ทำการแข่งขันด้วยรถ 488 GT3 หมายเลข 89 ที่ขับโดย คุณจ๊ะ–วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี คู่กับ Carlo Van Dam และยังมี 488 GT3 หมายเลข 34 ที่ขับโดย ต๊อด–ปิติ และ แบงค์–กันตศักดิ์ อีกหนึ่งคัน ส่วนทางด้าน 488 Challenge หมายเลข 25 จะขับโดย ติณห์ ศรีตรัย และ ตรี–กิตติพล โดยถึงแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ทำการแข่งขันน้อย แต่ในแต่ละสนามต้องบอกว่าตำแหน่งบนโพเดี้ยมไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมของทีม แม้ว่าต้องยอมรับกฎ B.O.P ที่ทำให้เขาและทีมงานต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก
“ปีนี้เราวิ่งอยู่ใน National Series ซึ่งเป็นปีที่เข้าร่วมการแข่งขันน้อยมากจริงๆ เพราะมีเวลาน้อยลงเนื่องจากติดภารกิจเยอะ เวลาซ้อมของเราก็ไม่ค่อยมี ปีนี้ก็เลยได้ไปร่วมสนุกแค่บางแสน และ บุรีรัมย์ 2 weekend เท่านั้น แต่ผลงานโดยรวมในปีนี้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ สำหรับสนามบางแสนเป็นแทร็คที่ค่อนข้างแคบ แต่ความเร็วยังอยู่ในความเร็วที่เราควบคุมได้ ส่วนทางสนามบุรีรัมย์มีบางโค้ง High-Speed ที่เราต้อง Carry Speed เข้าไป ต้องอาศัยใจหน่อย ซึ่งเราเองเราก็ว่ายังทำได้ไม่ 100 เปอร์เซนต์ ปีหน้าถ้ามีเวลาก็จะไปร่วมลงแข่งเช่นเคย”
NATIONAL MOTORSPORT
“ในกีฬาทุกแขนงเราก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันคนรุ่นใหม่ โดยมองเรื่องของสังคมรวมไปถึงประเทศชาติ เราพยายามซัพพอร์ทกีฬาไม่ว่าจะรายการแข่งขัน ทีมแข่ง หรือ นักแข่ง ไม่มากก็น้อย วงการมอเตอร์สปอร์ตเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้ก็ต้องขอบคุณทางพี่เนวินที่สร้างสนามแข่งที่ได้มาตรฐานขึ้นมาซึ่งสามารถรองรับรถอย่างนี้ได้ ตรงนี้เรามองว่าประเทศเรามีความพร้อม แต่ไม่มีนักแข่ง ซึ่งนักแข่งจำนวนมากก็ล้วนแจ้งเกิดจากรถคาร์ท ซึ่งรถคาร์ทเป็นอีกเรื่องที่สำคัญและต้องเอาใจใส่ ก็อยากจะผลักดันวงการรถคาร์ทมากขึ้น ซึ่งตรงนี้มีเด็กๆ รุ่นใหม่ที่มีฝีมือ เราก็มีหน้าที่ช่วยผลักดันพวกเขา และวงการมอเตอร์สปอร์ตให้โตขึ้น ทุกวันนี้เด็กๆ ชาวต่างชาติมาแข่งเยอะ และมีผลงานที่ดีส่วนหนึ่งเพราะเขาได้ใช้ของดี แต่เด็กของเรากลับต้องทนใช้ของที่ซ่อมแล้วซ่อมอีกเพราะของมันแพง บางคนมีฝีมือแต่มาแข่งได้แป้ปเดียว เพราะสู้ค่าใช้จ่ายๆ ไม่ไหว แต่ผมเชื่อว่าเด็กไทยไม่แพ้ เด็กไทยมีศักยภาพ”
“แน่นอนว่าตอนนี้วงการมอเตอร์สปอร์ตของบ้านเราดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก แต่มันจะดีกว่านี้ได้ถ้าภาครัฐเห็นความสำคัญและให้ความช่วยเหลือ อย่างเรื่องของภาษีรถคาร์ทเนี่ย ยกตัวอย่างที่สิงคโปร์ภาษีรถคาร์ทของเขา 7 เปอร์เซนต์ แต่ภาษีรถคาร์ทบ้านเรา 80 เปอร์เซนต์ ซึ่งทำให้รถคาร์ทที่เป็นกีฬาสำหรับเด็กอายุ 10-13 ปี คันหนึ่งเนี่ยตกเกือบสองแสนบาท ทำให้คนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ของดีๆ ก็อยากวอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐช่วยพิจารณาตรงนี้ดูอีกที เพราะมันเป็นกีฬาที่ดีอย่างหนึ่ง เราควรกลับมาให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วยเหมือนกัน”
สุดท้ายแล้วนักแข่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนวงการมอเตอร์สปอร์ตของประเทศไทยมาโดยตลอดนั้น ได้เปิดเผยแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นผลักดันนักแข่งหน้าใหม่ เพื่อผลักดันวงการมอเตอร์สปอร์ตในอนาคตที่ยังคงต้องอาศัยหลายหน่วยงานร่วมกันสนับสนุน ภายใต้ความเชื่อของเขาที่มั่นใจว่า..คนไทยสามารถทำได้
- เครื่องยนต์ของ 488 GT3 ยังคงเป็นตระกูล F154 ขนาด 3.9 ลิตร V8 ทวินเทอร์โบชาร์จ เหมือน 488 GTB แต่จะสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนกับชุดอินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่ พร้อมท่อทางเดินไอดีคาร์บอนไฟเบอร์ที่นอกจากน้ำหนักเบาแล้ว มันยังรับหน้าที่ในเรื่องของความสวยงามให้กับห้องเครื่องอีกด้วย
- 488 GT3 จะใช้เบรกสตีล ในขณะที่ 488 Challenge จะใช้เป็นเบรกคาร์บอนเซรามิก ซึ่งอันนี้บางคนก็ชื่นชอบเบรกคาร์บอนเซรามิกมากกว่า แต่เบรกเซรามิกเนี่ยก็มีข้อเสียคืออุณหภูมิจะสูงมาก และความร้อนที่สะสมก็จะถูกถ่ายเทลงไปที่หน้ายางมากด้วยเช่นกัน
“488 GT3 มีแรง Downforce ที่ดีกว่ามาก ฐานล้อและหน้ายางกว้างก็ยิ่งทำให้มีการยึดเกาะที่ดีขึ้นไปอีก รถไม่เกิดการอันเดอร์สเตียร์ก็เลี้ยวได้ง่าย”
“488 Challenge ยังคงใช้เครื่องยนต์ 3.9 ลิตร 670 แรงม้า เหมือนกับ 488 GTB ที่แต่งองค์ทรงเครื่องให้เป็นรถแข่งประเภท One Make Championship”
“ต้องมีความบ้าที่ต้องเร่งใส่โค้งให้มี Downforce กดลงไป ซึ่งถ้าทำจนคุ้นเคย 488 มันจะเป็นรถแข่งที่เร็วมากจริงๆ”
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น