ULTIMATE POWER
ขุมพลังสำหรับรถถนนที่บิ๊กเบิ้มและทรงพลังมากที่สุดของ FERRARI แห่งยุค แน่นอนว่าต้องเป็นตระกูล F140 แบบ V12 ที่เราจะพยายามแกะรอยการพัฒนามาตั้งแต่ ENZO ที่ได้ถือว่าเป็นระดับ Hyper car ที่เหนือชั้นกว่า Super car ไปหลายขุม จนมาถึง 812 Superfast ในปัจจุบัน ว่ามันจะเกรียงไกรขนาดไหน !!!
ปัญหาหลักที่จะเขียนและกลั่นสมองถึงเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับขุมพลัง FERRARI ในยุคใหม่นี้ มันก็คงไม่ยากหากจะเขียนแค่ Specification แต่ถ้าอยากจะให้ “ลงลึก” ไปจนถึง “กึ๋น” และ “ที่มาที่ไป” แล้ว นี่เอง สิ่งที่เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น “บุคคลในเรื่องราว” ย้อนไปถึงวันที่ “ยุคไร้สมองกล” เหล่าวิศวกรเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างเครื่องยนต์ตัวหนึ่งขึ้น ผ่านความลำบาก ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ผ่านมันสมองอันชาญฉลาด ใส่จิตวิญญาณเข้าไปในชิ้นส่วนของรถยนต์ ทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูมีชีวิต ผนวกกันทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ ณ วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกทีมใช้การออกแบบโดย “สมองกล” พร้อมโปรแกรมที่พร้อมจะทำงานแทนมนุษย์ และได้รับการยอมรับว่าทุกอย่างออกมาจะต้องสมบูรณ์แบบ รวดเร็ว ผลิตได้จำนวนมาก มันก็เป็นเรื่องของผลกำไรให้บริษัทแต่…ผลสุดท้ายแล้ว เหมือนไม่มีอะไรให้จดจำ…
ขณะที่เครื่องยนต์ในกาลก่อน ที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้มีกำลังมหาศาล ไม่สะอาด แต่มันก็มีสุนทรีย์รสเล็กๆ ในการริเริ่มสร้างมันขึ้นมา ทั้งหมดนี้มันก็เป็นตัวเลข จะ “ใหญ่ไว้ก่อน พ่อสอนไว้” หรือ “เล็กดีรสโต” (ถ้าจำเป็น) และเมื่อผมได้เขียนถึงเครื่องยนต์ FERRARI อนุกรม F140 แบบ V12 เรียกว่าเป็นสุดยอดของค่าย เป็นเครื่องยนต์รถถนนที่มีความจุมากสุด แถมยังมีอานุภาพสูงสุดตลอดกาลอีกด้วย ผลพวงของเรื่องนี้ ทำให้เราต้องมา “เหลา” กันถึงเรื่องของ ข้อเท็จจริง รูปร่างลักษณะ กลไกต่างๆ และถือเป็น “จุดสุดยอด” ที่คนทั่วไปไม่คาดคิดก็คือ “การออกแบบเสียง” ที่ต้องเปล่ง แผด กร้าว สไตล์ “ม้าศึก” ฟังแล้วต้องรู้ว่าคือ FERRARI ก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบ ลำดับการจุดระเบิด ช่องพอร์ตต่างๆ ที่จะมีผลในด้านเสียงและความแรง แบบ “สะเทือนปฐพี” ซึ่งมีข้อยกเว้นหนึ่ง เครื่องยนต์ F140 ก็ถูกแตกหน่อไปอยู่ใน LaFerrari ซึ่งเป็น Hybrid hyper car รุ่นแรกของ FERRARI อีกด้วย…
ทรวดทรงองค์เอวของขุมพลัง F140 นั้น จะเป็นเครื่อง V แบบกาง 65 องศา ซึ่งเป็นแบบ “พิมพ์นิยม” ที่ใช้มาตั้งแต่ Dino V6 ซึ่งก็มาในรูปแบบนี้ทั้งหมด แล้วก็มาใช้กับเครื่อง V12 สำหรับรถถนนในยุคปัจจุบัน ซึ่งการออกแบบมุม 65 องศา นั้น เป็นจุดที่ดีที่สุด ทั้งความสมดุลย์ และ ความราบเรียบ ในจังหวะที่เครื่องยนต์ปั่นรอบสูง แต่ถ้าพูดถึงเครื่องยนต์ แบบ V ในอุดมคตินั้น ทั่วโลกยอมรับว่าต้องกาง 60 องศา ที่ว่ากันว่าดีที่สุดนั้น คงไม่ใช่สาระสำคัญเท่าไร แต่สิ่งที่ FERRARI คำนึงถึงมากกว่านั้น คือ เครื่องยนต์ V แบบ 65 องศา มันกางมากกว่า ทำให้เครื่องยนต์เตี้ยลง จุดศูนย์ถ่วงก็จะอยู่ต่ำลง และกดลงที่ล้อทั้งสองฝั่งมากขึ้น ทำให้รถเข้าโค้งดีขึ้น อีกประการ เมื่อเครื่องยนต์กางมากขึ้น พื้นที่ตรงกลางก็จะเหลือเยอะ (อย่าลืมว่า แม้จะเห็นตัวเลขความต่างเพียง 5 องศา ถ้าจะวัดกันตั้งแต่จุดกึ่งกลางของข้อเหวี่ยง กว่าจะไปถึงฝาบน มันบานออกคนละเรื่องเลยนะครับ) ทำให้สามารถออกแบบ ท่อร่วมไอดี ได้อย่างอิสระและเพิ่มขนาดได้ใหญ่ขึ้น เป็นหัวใจสำคัญถึงเรื่องพละกำลังในเครื่องยนต์แบบ N.A. สูดลมหายใจเอง…
FERRARI หยุดการผลิตเครื่องยนต์ V12 กาง 60 องศา สำหรับรถถนน เมื่อปี 1989 ซึ่งในช่วงยุค 80 เอง FERRARI ก็ผลิตเครื่องยนต์แบบ Flat – 12 (12 สูบนอน) ที่อยู่ใน F1 ซึ่งเป็นเครื่องที่ทรงเสน่ห์มาก ในปี 1992 FERRARI หวนคืนวงการเครื่องยนต์ V12 แต่เป็นแบบ “วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง” ซึ่งมาในรุ่น 456 เป็นรูปแบบ GT (Grand Touring) เน้นการขับเดินทางไกลได้อย่างสบาย ไม่เน้นจะพาไปแรดอย่างเดียวในเหล่า Mid – ship ทั้งหลาย เครื่องยนต์รุ่นล่าสุด (ในยุคนั้น) ใช้รหัส F116 ซึ่งสร้างมาเป็นแบบกาง 65 องศา ครั้งแรก และพัฒนามาเป็นรุ่น F133 ใน 550 และ 575 Maranello จวบจนถึง 612 Scaglietti มันถือว่าเป็นเครื่องที่ยอดเยี่ยมของ FERRARI เลยนะ แน่นอน ด้วยความที่มันถูกใช้มากว่าทศวรรษ ก็ย่อมถึงกาลที่จะต้องยกเครื่องกันใหม่ F140 จึงเป็นการสานต่อตำนาน…
แต่ก่อนที่ F140 จะเกิดขึ้น ย้อนไปปี 2002 MASERATI ใช้เครื่องยนต์ V8 รหัส F136 ที่ออกแบบโดย FERRARI และหลังจากนั้นอีก 2 ปี FERRARI ออกรุ่น F430 มา โดยใช้เครื่อง F136 รุ่นเดียวกันนี้ แต่พัฒนาให้มีความโหดร้ายก้าวร้าวรุนแรงแบบ “สยองพองขน” เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแคมชาฟต์ จาก “สายพาน” ไปเป็น “โซ่” ที่มีประโยชน์ทั้งสองทาง คือ มีขนาดเล็กลง ไม่ใหญ่เหมือนสายพาน อีกทางหนึ่ง “ลดการบำรุงรักษา” พูดง่ายๆ ก็ “ทน” กว่านั่นเอง รวมถึงการใช้ระบบหล่อลื่นแบบ Dry sump สไตล์รถแข่ง ที่ด้านล่างไม่มีอ่างน้ำมันเครื่องย้อยลงไปแบบปกติ ทำให้วางตำแหน่งเครื่องและตัวรถได้เตี้ยมาก โดยที่อ่างไม่โหม่งพื้นง่ายๆ เสียก่อน (เว้นแต่โหม่งทั้งคันก็อีกเรื่อง) ทำให้จุดศูนย์ถ่วง (CG.) ของรถอยู่ต่ำลง ก็เป็นธรรมดาที่มันจะตอบสนองการขับขี่ได้อย่างยอดเยี่ยม…
อาจจะไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์นัก เพราะองค์ประกอบต่างๆ ของ F140 ก็ยังคงทรงเดียวกับรุ่นบรรพบุรุษอย่าง F116 และ F133 แต่จุดมุ่งหมายยังคงเดิม คือ พัฒนาให้เครื่องยนต์สามารถใช้รอบสูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งก็สืบเนื่องไปถึงการปลดปล่อยพละกำลังที่มากขึ้นด้วย ใช้พื้นที่อยู่น้อยลง น้ำหนักเบาลง และที่แน่ๆ รถคันแรกที่จะได้เปิดซิงกับเครื่องตัวนี้ จะต้องปรากฏตัวด้วยรูปลักษณ์อันโหดร้าย ที่สำคัญที่สุด ขุมพลังที่ปลดปล่อยพละกำลังได้อย่างบู๊ล้างผลาญสะท้านโลก…
เดาไม่ยากครับ รถคันนี้ก็ใช้ชื่อเดียวกับนิตยสารที่ท่านถืออยู่นี้เอง “ENZO” ซึ่งเป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้เขียนในภาคภาษาอังกฤษ คือ John Simister ที่ได้อยู่ในงานเปิดตัวสู่สื่อมวลชน (Press launch) ครั้งสำคัญในเมือง Fiorano ด้วย (ผมก็อิจฉาคุณครับ) และในบทความของนิตยสาร Evo I ผู้เขียนได้ประกาศไว้เลยว่า “เป็นรถที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตที่เคยได้ลิ้มลอง” หลังจากที่เปิดตัวในนามของ ENZO แล้ว ขุมพลังในเวอร์ชันนี้จะใช้ชื่อว่า F140B ความจุสูงถึง 5,998 ซีซี. โดยใช้ความกว้างกระบอกสูบ 92 มม. ช่วงชักยาว 75.2 มม. ลำเลียงม้าศึกล่ำๆ ออกมาถึง 650 bhp ที่ 7,800 rpm ถ้าเทียบแรงม้าต่อความจุ สามารถทำได้เกินกว่า 100 bhp ต่อความจุ 1 ลิตร ได้อย่างสบาย และลากรอบได้สูงสุดถึง 8,200 rpm (เครื่อง V12 ปั่นได้รอบขนาดนี้นับว่าสนานหูของแท้) ประกอบกับเทคนิคต่างๆ ที่ FERRARI ใช้มาโดยตลอด อาทิ 4 วาล์วต่อสูบ, ระบบแปรผันแคมชาฟต์ทั้ง 4 แท่ง (เครื่อง V มีแคมชาฟต์ฝั่งละ 2 แท่ง ไอดีและไอเสีย) และ ระบบท่อไอดีแบบแปรผันความยาวได้ บล็อกเครื่องยนต์และฝาสูบ ผลิตจาก “อะลูมิเนียม” ทั้งหมด เบาและแข็งแรง ชัดเจนที่สุด FERRARI ถูกใจสิ่งนี้ คือ ใช้ไลน์เนอร์แบบถอดเปลี่ยนได้ ผลิตจากเหล็กหล่อ แต่เคลือบด้วย Nikasil ที่ทั้งลื่นและทนทาน…
องค์ประกอบของเครื่องยนต์อันน่าสะพรึง ที่ทำให้การตอบสนองคันเร่งนั้น “แว๊ด” ได้อย่างวิเศษ สืบเนื่องมาจากอุปกรณ์ที่ “เบา” มีแรงเฉื่อยต่ำ การใช้ฟลายวีล กับ ชุดคลัตช์แบบ Twin – plate แผ่นคู่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็ก ทำให้แรงต้านการหมุนต่ำ (ให้นึกสภาพของ คานดีด คานงัด น้ำหนักเท่ากัน แต่ยิ่งไกลจากจุดศูนย์กลางก็ยิ่งหนัก) แต่หลายคนคงคิดกันว่า เครื่องแรงม้ามาก รอบสูงขนาดนี้ มันจะต้องเดินเบา “กระเส่าเขย่าอุรา” เป็นแน่แท้ แต่บางทีคนขับก็ต้องการความสบายบ้าง ไม่ต้องเป็นห่วง เจ้า F140B สามารถที่จะเดินเบาได้อย่างราบเรียบ ต้องยกความดีให้กับระบบกล่องควบคุม BOSCH ME7 ที่ให้ความละเอียดและแม่นยำสูงสุด รวมไปถึงการใช้ระบบ “คันเร่งไฟฟ้า” (Drive by wire) มาควบคุมการขับขี่ให้แน่นอนและปลอดภัยมากขึ้น…
ทั่วโลกนั้นย่อมรู้ว่า ENZO นั้นมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ “คนพิเศษ” ตัวจริงได้ครอบครอง ก็มีลูกค้ากระเป๋าหนักหลายคนที่อยากจะลิ้มลองรสชาติความแรงจากขุมพลัง F140 แต่ก็ไม่มีโอกาส (ของอย่างนี้มีเงินอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะซื้อหาได้) และก่อนเลิกผลิตไปในปี 2004 โดยส่งท้ายกันด้วย FXX ซึ่งเป็นรถซิ่งใน Track แบบเฉพาะทาง ซึ่งให้พลังอย่างบ้าคลั่งถึง 800 bhp ส่วนหนึ่งก็มาจากการเพิ่มกระบอกสูบไปอีก 2 มม. ทำให้ความจุสุทธิเป็น 6,262 ซีซี. (เลขสวยเชียว) เครื่องตัวนี้จะใช้รหัส F140DA ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งยืนยันว่า เครื่องยนต์ตระกูล F140 สามารถต่อยอดได้อย่างกว้างขวาง…
ปี 2006 เปิดตัว 599 GTB Fiorano เป็นรูปแบบ GT ที่มาแทน 575 M Maranello ใช้ขุมพลัง F140C ที่พัฒนาขึ้นใหม่ แต่ยังคงรักษาความจุ 5,999 ซีซี. ของ ENZO เอาไว้ ยังคงความกะทัดรัด เปลี่ยนฝาหน้าเครื่องใหม่ และระบบขับเคลื่อนของอุปกรณ์เครื่องยนต์ใหม่ แม้ว่าระบบยกวาล์วจะเป็นแบบ ไฮดรอลิค (ซึ่งทั่วไปรู้กันว่า ความแน่นอนในรอบสูงนั้นสู้แบบชิมวาล์วปกติไม่ได้) แต่กระนั้นก็ออกแบบให้รองรับรอบสูงขึ้นกว่าเดิมเป็น 8,400 rpm ได้อย่างสบาย (เพิ่มจากเดิม 200 rpm) เรื่องของแรงม้า กลับลดลงกว่า ENZO เหลือ 611 bhp ที่ 7,600 rpm (เข้าใจว่าทำให้ขับง่ายขึ้นมากกว่าจะเน้นความรุนแรงเพียงอย่างเดียว) แรงบิดก็ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ 448 ปอนด์ – ฟุต (จากเดิม 485 ปอนด์ – ฟุต) ซึ่งประการหลักแล้ว จะมาจากเรื่องกฏหมายควบคุมมลพิษที่เข้มงวดขึ้น ที่ต้องปฏิบัติตาม และ เรื่องของความคงทนในระยะยาว…
จากประสบการณ์แล้ว F140 ก็เป็นเครื่องที่ไม่ธรรมดาจริงๆ ในส่วนของ 599 (และตามมาด้วย F140CE ที่สิงสถิตย์อยู่ใน GTO ที่มีแรงม้าถึง 670 bhp) ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ของผู้เขียนที่มีช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นที่ได้สัมผัส ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นช่วงระหว่าง ENZO และ 599 ก็คือ MASERATI MC12 ตัวมหาเทพค่าย “ตรีศูลย์” ที่ใช้พื้นฐานเดียวกับ ENZO ขุมพลังจะใช้ชื่อว่า M144A แม้มีแรงม้าน้อยกว่า ENZO อยู่ 30 bhp แต่ยังไงเราก็ยังไม่ลืมมัน…
มาถึงปี 2011 ก็ได้พัฒนาระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้ (Direct fuel injection) มาพร้อมกับ FERRARI FF ที่เป็นแบบ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ครั้งแรกของค่าย และขยายความจุไปเท่ากับ FXX จากการที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงอันทันสมัย เนื่องจากระบบฉีดตรงฯ จะมีความแม่นยำสูงมาก โอกาสเกิดการชิงจุดระเบิด หรือ “เขก” มีน้อย จึงผลพวงก็คือ “สามารถใช้กำลังอัดเครื่องยนต์ได้สูงขึ้น” ก็จะมีกำลังและการตอบสนองที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเครื่องตัวนี้จะใช้รหัส F140EB โดยมีแรงม้า 650 bhp เท่ากับ ENZO ที่รอบสูงขึ้นเป็น 8,000 rpm แรงบิดเพิ่งเป็น 503 ปอนด์ – ฟุต…
การจัดวางตำแหน่งหัวฉีดแบบใหม่นี้ จะเจาะรูแล้วติดตั้งสอดแทรกอยู่ระหว่าง “วาล์วไอดีทั้งสองตัว” ห้องเผาไหม้ปรับรูปทรงใหม่ ถ้ามองในมุมหน้าตัดแล้ว จะเป็นรูปทรงคล้าย “แอปเปิล” ผ่าซีก (ลองมโนตามดูครับ) ส่วนที่ยื่นมาตรงกลางนั้นก็คือ จุดที่ติดตั้งหัวฉีด นั่นเอง ลูกสูบปรับปรุงใหม่ ตำแหน่งหัวลูกสูบจะออกแบบให้เชื้อเพลิงสามารถฉีดมาคลุกเคล้ากับอากาศได้อย่างละเอียด และ แผ่กระจายแรงจุดระเบิดได้อย่างสมบูรณ์แบบ กระโปรงข้างของลูกสูบสั้น ลดแรงเสียดทานที่กระบอกสูบ รวมไปถึงการปรับตำแหน่งสลักลูกสูบ ให้เกิดการ “ตบข้าง” น้อยที่สุดในขณะที่ข้อเหวี่ยงทำมุม 90 องศา…
สำหรับสเป็กเครื่องยนต์ของ FF นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูล F140 ที่พัฒนามาในช่วงที่สอง คิดกันว่า FERRARI F12 Berlinetta ที่ออกมาแทน 599 ในปี 2013 ใช้รหัสเครื่อง F140FG นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ปลุกปิศาจในตัวคุณให้คุโชน ด้วยพลังสุดขั้วหัวใจถึง 730 bhp ที่ 8,250 rpm ยังไม่พอนะครับ ปี 2015 F12 TDF (Tour De France) หรือ “ตูร์เดอฟรองซ์” ที่อัพแรงม้าไปถึง 769 bhp ที่ 8,500 rpm แล้วจะไปสิ้นสุดที่ใด…
จากตัวเลข 789 bhp จาก 812 Superfast ที่ยังคงรอบเครื่องสูงสุดไว้ที่ 8,500 rpm แรงบิด 530 ปอนด์ – ฟุต ที่ 7,000 rpm และนั่นคือพลังที่สำแดงในปัจจุบัน จากเครื่อง F140GA ที่เพิ่มความจุ ด้วยการขยายช่วงชักยาวขึ้นเป็น 78 มม. แต่ยังคงกระบอกสูบขนาด 94 มม. ไว้อย่างเดิม ทำให้ความจุเพิ่มขึ้นไปถึง 6,496 ซีซี. เรียกว่าเป็นเครื่องที่ “โตใหญ่ตลอดกาล” ที่สุดเท่าที่ FERRARI ได้ผลิตมา ทำแรงม้าได้สูงสุดถึง 123 bhp ต่อ 1 ลิตร โดย “ไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศใดๆ ทั้งสิ้น” ที่ต้องต้องจารึก…
และความแรงขนาดนี้ ก็ได้การช่วยเหลือจากระบบ Hybrid ทำให้มันถูกสรรเสริญกว่าเป็นเครื่องยนต์ F140 ที่แรงที่สุด “สำหรับรถถนน” แต่ถ้าแรงหลุดโลกจริงๆ ก็ต้องย้อนไปในปี 2007 เป็น FXX Evoluzione ที่ผลิตมาเพื่อซิ่งในสนามเท่ากัน (Track – only car) ที่พกม้าศึกมาถึง 848 bhp บนรอบเครื่องสุดคลั่งถึง 9,500 rpm บนความจุ 6,262 ซีซี. แบบวางกลางลำ แต่ตอนนี้ เรากำลังมาถึงจุดสุดยอดของเรื่องแล้ว กับเครื่องรุ่นล่าสุด F140FE ที่บรรจุอยู่ใน LaFerrari ซึ่งลดขนาดความจุกลับไปเท่ากับ ENZO และ FXX แต่พัฒนาให้ใช้รอบได้สูงกว่าเดิม เป็น 9,000 rpm เพื่อกระชากแรงม้าให้กลับมาเท่าเดิม และแน่นอนว่า LaFerrari จะได้พลังเสริมจากมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบ KERS หรือ Kinetic Energy Recovery System ที่ใช้ใน F1 โดยการเสริมพลังไปอีก 163 bhp แบบเสกได้ด้วยปลายนิ้ว ด้วยอานุภาพแห่งพลังกว่า 950 bhp ถ้าเรายังไม่ปลดปล่อยมันออกมา มันก็ใช่ว่าจะต้องกระหายเชื้อเพลิงตลอดเวลา LaFerrari มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ทำให้สามารถขับเดินทางด้วยระยะทางที่ไกลกว่า 812 Superfast ด้วยซ้ำ…
ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องหลอกหลวงในอนาคตสำหรับเครื่อง V12 ที่จะพัฒนาเรื่องพลังไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่แน่นอนว่า เหล่าวิศวกร และ นักการตลาด ต่างก็ปฏิเสธความเย้ายวนแห่งสมรรถนะ ในการเพิ่มแรงม้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับ FXX – K EVO Track – only ที่ใช้เครื่องยนต์ F140 ผลิตแรงม้าได้ถึง 848 bhp และยังเสริมด้วยระบบ KERS ที่ให้กำลังอีก 190 bhp ทำให้แรงม้าสูงสุดทำได้แบบสุดจักรวาลถึง “1,038 bhp” !!!
FERRARI จะยังกล้าหาญทำ Road car แรงสุดพลังจากเครื่องตระกูล F140 ก่อนที่จะถูกยุบหรือปรับเปลี่ยนหรือเปล่า มันคงเป็นเรื่องยากที่จะพูดตอนนี้ แต่ก็เชื่อว่าโรงงานในแคว้น Maranello ก็จะมีเรื่องราวมาเซอร์ไพรส์เราอีกก็เป็นได้…
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น